เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 67 มีผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “หมอคนสุดท้าย” ได้ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวสุดสะเทือนใจของผู้หญิงรายหนึ่ง ที่รักษาโรคมะเร็งเป็นระยะเวลานาน แต่เรื่องราวนี้กับพีคหนัก เพราะคนไข้ขอร้องคุณหมอให้การุณยฆาตเธอ เนื่องจากเหตุผลที่ว่า “ไม่อยากกลายเป็นภาระใคร”

โดยเพจหมอคนสุดท้าย เล่าว่า “รอยแผลการุณยฆาต คุณกันยา (นามสมมติ) รอตรวจคุณหมอห้องเบอร์ 5 เสียงพี่พยาบาลหน้าห้องตรวจเรียกคนไข้มานั่งรอหน้าห้อง ผมทบทวนประวัติในคอมพิวเตอร์อยู่สักพัก เมื่อเดินออกไปเปิดประตูห้อง เธอเป็นผู้หญิงวัยกลางคน รูปร่างผอม ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ คลุมทับด้วยเสื้อแขนยาวสีเทาๆ”

บทสนทนาหมอและคนไข้
หมอ : คุณกันยาใช่ไหมครับ?
คนไข้ :ใช่ค่ะ
หมอ : เชิญเข้าห้องตรวจนะครับ มีญาติมาด้วยไหมครับ
คนไข้ : ไม่มีค่ะ

จนกระทั่งบทสนทนานี้ ทำคุณหมอประหลาดใจ และคุณหมอยังให้เหตุผลอีกว่า “ผู้ป่วยประคับประคองส่วนใหญ่มักมีครอบครัวหรือญาติมาด้วยเสมอ” คุณหมอถามทวนอีกครั้งว่า “มาคนเดียว ไม่มีใครมาด้วยเลยเหรอครับ” คนไข้จึงตอบหมอว่า “มาคนเดียวค่ะ” เธอเดินเข้ามานั่งในห้องตรวจ

บทสนทนาคนไข้และหมอจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
หมอ : ผมขออนุญาตเรียกว่าพี่กันยานะครับ
คนไข้ : ค่ะคุณหมอ เธอตอบด้วยน้ำเสียงสั่นๆ คอตก นั่งก้มหน้า แขนสองข้างแนบลำตัว มือทั้งสองกุมกันแน่น
หมอ : เดินทางมายังไงเหรอครับ
คนไข้ : มารถประจำทางค่ะ

จนกระทั่ง หมอเล่าอีกว่า “เธอต้องตื่นตั้งแต่ 04.00 น. สามีขับรถจักรยานยต์ไปส่งที่บขส. ในตัวจังหวัดตอน 05.00 น. เพื่อนั่งรถทัวร์มาหาหมอ เมื่อถึงตัว บขส. ของจังหวัดปลายทาง เธอต้องนั่งรถสองแถวต่อมาที่โรงพยาบาล กว่าจะถึงโรงพยาบาลก็ราว 08.00 น. ต่อคิวไปห้องบัตร เจาะเลือด รอพบหมอก็เสร็จเกือบเที่ยง บางทีกว่าจะเสร็จก็บ่าย บางทีก็ค่ำ และส่วนใหญ่เธอก็ถึงบ้านสองทุ่ม แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้ว่า “การรอคอย” ที่โรงพยาบาลเป็นอย่างไร”

อีกทั้ง “พี่กันยาเล่า เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งมาหลายปี ผ่านการผ่าตัดและยาเคมีบำบัดมานับครั้งไม่ถ้วน รอยแผลเป็นที่อยู่หน้าท้อง รอยมีดกรีดเป็นแนวยาวใต้ชายโครงขวา โค้งเหนือต่อสะดือขึ้นไปถึงใต้ลิ้นปี่ รอยแผลเดิมถูกกรีดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา”

โดยบทสนทนาหมอและคนไข้ มีดังต่อไปนี้
คนไข้ : หมอมียาที่ฉีดให้พี่ตายหรือหลับไปเลยได้ไหม คำนี้ทำหมอตกใจกับสิ่งที่พี่กันยาพูดออกมา น้ำตาเริ่มไหลออกมาอาบแก้มสองข้าง เธอเอามือปิดหน้า ก้มลงพร้อมเสียงร้องไห้ออกมา จึงทำให้หมอเอื้อมมือไปแตะที่ไหล่ของพี่กันยา
คนไข้ : พี่อยากตาย มียาฉีดให้พี่ตายไปเลยได้ไหม “เธอย้ำอีกครั้ง”
หมอ : เกิดอะไรขึ้นกับพี่กันยาครับ
คนไข้ : ตั้งแต่พี่ป่วยพี่ไม่ได้ทำงาน แฟนทำงานรับจ้างอยู่คนเดียว เงินก็ไม่พอใช้ ลูกก็ยังเรียนอยู่ พี่ไม่อยากเป็นภาระให้แฟน ไม่อยากให้ลูกลำบาก ไม่อยากรักษามะเร็งต่อแล้ว ไม่อยากมาแล้ว มาทุกครั้ง ไหนจะค่ารถ ค่ากิน ค่าอยู่ บางทีก็ยืมเงินเขามา ถ้าพี่ตายไป ทุกคนในครอบครัวจะได้ไม่ต้องมาลำบากเพราะพี่ เงินที่เอามารักษาจะได้เอาไปให้ลูกเรียนหนังสือ พี่ปวดมากๆ เลยอยู่แบบนี้มันทรมานแต่ลึกๆ พี่ก็อยากอยู่กับลูก เห็นเขาเติบโต

โดยหมอเล่าว่า “เธอมีลูกชายวัยมัธยมเพียงคนเดียว 9 ปี ที่เธออดทนสู้กับโรคร้าย 9 ปี ที่เธอพยายามดิ้นรนที่จะมีชีวิต เพื่อลูกและคนในครอบครัว 9 ปี ที่เธอมาโรงพยาบาลคนเดียว และ 9 ปี ที่เธอแบกรับความรู้สึกเหล่านี้ไว้ โดยไม่เคยปริปากออกมา” คุณหมอจึงได้ชมคนไข้ว่า “ที่ผ่านมาพี่เก่งมาก ตอนนี้ผมรับรู้ความรู้สึกของพี่ แม่ที่อยากมีชีวิตเพื่อลูก ในขณะเดียวกันการมีชีวิตอยู่แม้พี่เจ็บป่วยก็ยังห่วงลูก กลัวลูกลำบาก มากกว่านึกถึงตัวเองตัวเอง”

อีกทั้ง “คนไข้เอื้อมสองข้างมาจับมือหมอ ประนมมือและดึงขึ้นไปที่อกของเธอ ซึ่งหมอเห็น “รอยยิ้ม” ของคนไข้เป็นครั้งแรกตั้งแต่พบกัน ความปวดของคนไข้ หมอและทีมจะช่วยจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ และจะให้นักสังคมสงเคราะห์ทีมหมอเข้ามาช่วยเหลือ มูลนิธิการุณรักษ์ได้ช่วยเหลือค่าเดินทาง ในการมาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง จำนวนเงินอาจไม่ได้มากมาย แต่มันพอที่จะ “ต่อชีวิต” ให้คนคนหนึ่งได้ ทำให้ “แม่” ยังได้มีชีวิตเพื่อลูก ช่วยให้ ”ความทุกข์“ ตลอด 9 ปี ได้มีน้ำชโลมให้เจือจางลงบ้าง ให้รอย ”แผลเป็น“ ของความเจ็บปวดได้เล็กลง”

นอกจากนี้ หมอยังเผยอีกว่า “คนที่ปรารถนาความตาย คนที่ร้องขอ “การุณยฆาต” เขาต้องทุกข์มากเพียงใด แต่รู้ว่าการดูแลประคับประคองหรือ Palliative care ที่ดีจะช่วยให้ “อยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุข” โดย “ไม่เร่ง” และ “ไม่ยืด” การตาย หมอเองเคยคิดว่า ตัวเองก็เป็นหมอที่รับฟังคนไข้ในระดับหนึ่ง แต่คนไข้สอนให้หมอต้องใส่ใจต่อ “ความทุกข์ของคนไข้” มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หมอเผยอีกว่า “ไม่อยากให้การเข้าถึงการดูแลประคับประคองเป็น “ความโชคดี” หมอปรารถนาจะได้เห็นการสนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลประคับประคองที่ดี สามารถ “เข้าถึงได้” และ “เท่าเทียม” เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่ารวยหรือจน ชนชาติ ศาสนาใด คนไทยทุกคนควรมีสิทธิ “ตายดี” หมอได้เข้าใจคำว่าเส้นทางชีวิตผู้ป่วย หรือ patient journey ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนจริงๆ หมอขอเป็นกำลังใจให้คนกำลังเดินในเส้นทางของความเจ็บป่วยอยู่ หวังว่าจะมีใครสักคนหนึ่งที่ “ตอบรับ” และ “โอบกอด” ความทุกข์ของคุณ เรื่องราวและรูปภาพได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยให้เผยแพร่เป็นวิทยาทาน”

ขอบคุณข้อมูล : หมอคนสุดท้าย