ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง เกาะติดปัญหาโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ และเขื่อนป้องกันตลิ่งครอบคลุม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และอ.เมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ทุ่มงบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ให้จ.กาฬสินธุ์ ใน 8 โครงการใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตั้งแต่ปี 2562 ได้ผู้รับจ้าง 2 หจก.ขาใหญ่ ทำการก่อสร้างแต่ไม่สามารถก่อสร้างเสร็จแม้แต่โครงการเดียว ทำให้ในช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค. 2567 กรมโยธาฯ ได้ยกเลิกสัญญาก่อสร้างทุกโครงการ แต่การเอาผิดกับผู้รับจ้างและผู้บริหารสัญญาไม่มีความชัดเจน ทำให้ กมธ.ป.ป.ช.ฯ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาและได้มีคำสั่งเรียก 5 หน่วนงานใหญ่ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกรทุจริตแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันที่ 15 ธันวาคม 2567 ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง รายงานว่า นายธนกฤต ระวาดชัย นายก อบต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชี หลังวัดใหม่สามัคคี เปิดเผยว่า ถึงวันนี้ประชาชนยังรอคอยความชัดเจนของการแก้ไขปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน 8 โครงการ 7 ชั่วโคตรที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยพี่น้องประชาชน รวมทั้งพระเณรพื้นที่ ต.เจ้าท่า จุดก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งหลังวัดท่าใหม่สามัคคี ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากเขตก่อสร้าง และจากการติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหามาโดยตลอด มาหลายภาคส่วนทั้งคณะธรรมาภิบาลจังหวัด ปปช.- ปปท.และ สตง.ส่วนกลาง กระทั่ง ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนฯ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาด้วยตนเองเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา ถือเป็นความหวังใหม่ของชาวกาฬสินธุ์ทั้งจังหวัด ที่เห็นการแก้ไขปัญหามีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่จากการชี้แจงของผู้แทนกรมโยธาธิการ ซึ่งทราบว่าเป็นผู้ตรวจราชการกรมโยธาฯ ซึ่งสามารถชี้แจงเพียงวาจาเท่านั้น เพราะไม่มีเอกสารมาแสดงด้วย ได้สร้างความกังขาให้แก่ตนและผู้ร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาตามที่พูดจริง หรือดำเนินการกับผู้รับจ้างทิ้งงานจริงหรือไม่
นายธนกฤต กล่าวว่า ครั้งนั้น ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันนี้ ทางกรมโยธาธิการฯ ได้ยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างทั้ง 2 บริษัททั้ง 8 โครงการ หลังจากยกเลิกสัญญาแล้วได้ดำเนินการแจ้งสถาบันการเงินเพื่อทำการเรียกเงินแอดวานซ์ 15% จากผู้รับเหมาทิ้งงานครบทั้ง 8 โครงการ จากนั้นขึ้นชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน แจ้งค่าเสียหาย และประเมินค่าเสียหาย ซึ่งดำเนินการครบแล้วทั้ง 8 โครงการ ซึ่งเงินที่ริบคืนทั้งหมด นำเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน จากนั้นประเมินเงินที่เหลือเพื่อดำเนินการหาผู้รับจ้างรายใหม่ ทั้งนี้ สำหรับผู้รับจ้างรายเดิมทั้ง 2 หจก. ไม่มีสิทธิ์เข้ามาประมูลงานของกรมโยธาและผังเมือง แต่ยังไม่ได้ขึ้นแบล็คลิสต์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบภายใน
“คำชี้แจงของผู้ตรวจกรมโยธาฯ ที่ยังอ้างถึงการดำเนินการในส่วนของการหาผู้รับจ้างรายใหม่ และเงินค่าดำเนินการที่เหลือ เช่น โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชีวัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี เงินเหลือ 28 ล้าน ความยาวลดเหลือ 90 เมตร, วัดใหม่สามัคคี มีเงินเหลืออยู่ 29 ล้านบาท จะลดปริมาณงานลงอีก 120 เมตร, ชุมชนซอยน้ำทิพย์ เงินเหลือ 84.9 ล้าน ความยาวลด 150 เมตร ขณะที่ลำน้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ เงินเหลือ 30 ล้าน บาท ความยาวลดลง 50 เมตร และแก่งดอนกลาง เงินเหลือ 23 ล้าน ความยาวลด 96 เมตร ที่ได้ผู้รับจ้างแน่ๆ คือโครงการป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ส่วนโครงการอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าประมาณเดือน ก.พ.68 กรณีนี้ถึงแม้ผู้ตรวจกรมโยธาฯ จะชี้แจงไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างอะไรมาก ส่วนตัวไม่อยากให้ลดปริมาณงานลง จะต้องได้ปริมาณงานเต็มตามแบบเดิม ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลดความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนจริงๆ หากงบประมาณไม่พอ ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย เรียกจากผู้รับเหมาทิ้งงาน เพราะปัญหานี้เกิดจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ กรมโยธาฯที่เป็นเจ้าของโครงการและเจ้าของงบประมาณ จะต้องดำเนินการเรียกคืนจากผู้รับจ้างที่เป็นคู่สัญญา และทำผิดสัญญา ความเสียหายทั้งหมดเกิดจากผู้รับจ้างทิ้งงาน มีหลักฐานชัดเจน ทำไมการลงโทษเอาผิดจึงล่าช้า” นายธนกฤต กล่าวในที่สุด
ด้านนายณฤทธิ์ กำจร หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้แทนว่าที่ร้อยตรี สมบูรณ์ หัสดม ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหา 7 ชั่วโคตร ผู้รับจ้างทิ้งงานดังกล่าว ได้รับการร้องเรียนจากเครือข่าย ป.ป.ช.ครั้งแรก คือโครงการป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท ต่อมาได้ร่วมกับ ผอ.ปปท.เขต 4 ขอนแก่น และคณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ร่วมตรวจสอบ กระทั่งทราบว่ามีอีก 7 โครงการ รวมเป็น 8 โครงการที่ผู้รับจ้างทิ้งงานไป ส่งผลกระทบและทำความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งยังทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมากอีกด้วย จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทราบว่างบประมาณทั้งหมดมาจากกรมโยธาฯ ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น การทำสัญญาทำขึ้นที่กรมโยธา และในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องทุกกระบวนการ ทั้งคณะกรรมการผู้ควบคุมงาน จัดซื้อ จัดจ้าง ตรวจสอบ เป็นข้าราชการจากส่วนกลางทั้งหมด จึงเป็นประเด็นที่อยู่เหนืออำนาจการพิจารณาไต่สวน ของ ป.ป.จ.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ ได้รวบรวมหลักฐานและส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช.ส่วนกลางแล้ว ซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของสำนักไต่สวนภาครัฐ ดังนั้นในกรณีผู้รับจ้างทิ้งงาน งบประมาณที่เหลืออยู่ไม่สามารถดำเนินการต่อตามโครงการเดิมได้ เพราะวงเงินไม่พอ จึงมีความสงสัยว่าทางกรมโยธาฯ ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเสียหาย เพื่อดำเนินการเรียกร้องเอาผิดผู้รับจ้างทิ้งงานเลยหรือ หรือยังไง เพราะกรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของรัฐ แต่เป็นความผิดของผู้รับจ้างทิ้งงาน จึงอยากให้ทางกรมโยธาฯ ได้ชี้แจงรายละเอียด และเป็นลายลักษณ์อักษร มากกว่าชี้แจงด้วยวาจา เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคมกาฬสินธุ์และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศด้วย