เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวานนี้ (3 ธ.ค. 67) ที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ดร.เทิดศักดิ์ อินทโชติ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและอบรม พร้อมคณะ ในนามตัวแทน ผู้จัดการแข่งขันระดับประเทศไทย บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เดินทางมาให้การต้อนรับ ตัวแทนนักเรียนไทย ที่เดินทางไปเข้าร่วม การแข่งขัน WORLD ROBOT OLYMPIAD International Final 2024 ณ เมืองอิซเมียร์ สาธารณรัฐทูร์เคีย เมื่อวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 87 ประเทศ รวม 562 ทีม ซึ่งประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 16 ทีม และได้รับรางวัล ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 ประเภท Robomission รุ่น ELEMENTARY Team Skyfall จาก สถาบัน Smart Robot Club ได้แก่ 1.เด็กชายเคลตัน วินเตอร์ ซัสแมน จูเนียร์ , 2.เด็กชายณัฐธีร์ ปัญจะ , 3.เด็กหญิงกีรติกรณ์ ตั้งสกุลประเสริฐ
รางวัล Team Spirit ประเภท FUTURE INNOVATORS รุ่น ELEMENTARY Team 3 Chicken จาก สถาบัน Robocod Center ได้แก่ 1.เด็กชายภวัต เที่ยงธรรม , 2.เด็กชายวรินทร ไผ่เฉลิม , 3.เด็กชายภัทระ โศภิษฐ์ประภา
รางวัลชนะเลิศอันดับ 6 ประเภท Future Engineers Team KMIDS Thermodynamically Favorable จาก โรงเรียน KMIDS ได้แก่ 1.นายชญานนท์ นินยวี , 2.นายณัฐพนธ์ อิทธิสถิตกุลชัย
โดยการแข่งขัน WRO เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์โอลิมปิกโลก ( WRO ) เป็นการ แข่งขัน หุ่นยนต์ ระดับโลก สำหรับเยาวชน การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลกใช้หุ่นยนต์ LEGO Mindstorms ที่ผลิตโดย LEGO Education จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2004 ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีทีมเข้าร่วมมากกว่า 28,000 ทีมจากกว่า 85 ประเทศ การแข่งขันประกอบด้วย 4 ประเภทที่แตกต่างกัน: RoboMission, RoboSports / Future Innovators / Future Engineers และสำหรับประเภท RoboMission และ Future Innovators ประกอบด้วยสามกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน Elementary / Junior High และ Senior Highผู้เข้าร่วมที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ถือเป็นระดับ Elementary ผู้เข้าร่วมที่มีอายุตั้งแต่ 11 ถึง 15 ปี ถือเป็นระดับ Junior High และผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 14 ถึง 19 ปี ถือเป็นระดับ Senior High
ด้าน ดร.เทิดศักดิ์ อินทโชติ กล่าว่า ครั้งนี้เราได้พาเด็กไปแข่งขัน ประเภทการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ 2024 ในรัฐอิซเมียร์ ประเทศตุรกี โดยเรามีทีมที่ส่งเข้าร่วมทั้งหมด 16 ทีม โดยมีประมาณ 90 ประเทศทั่วโลกและมีประมาณ 500 กว่าทีมในการส่งเข้าแข่งขันในครั้งนี้ โดยเด็กไทยนั้นได้รับรางวัลมา 3 ประเภท ดังนี้ Team Skyfall รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 การแข่งขันประเภท Robomission รุ่u Elementary Team 3 Chicken ได้รับรางวัล Team spirit การแข่งขันประเภท Future Innovators Team KMIDS TDF รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 6 ในการแข่งขันประเภท Future Engineers
ก่อนเข้าแข่งขันเด็กๆทุกทีมมีการเตรียมตัวอย่างหนัก เพราะว่ากว่าจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งพวกเขาต้องผ่านการแข่งขันระดับภูมิภาคมาก่อน พอแข่งภูมิภาคเสร็จ ก็จะมีการแข่งระดับประเทศ และอันดับ 1 2 3 ระดับประเทศก็จะได้รับคัดเลือกไปแข่งระดับนานาชาติ เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวในแต่ละระดับก็ต้องมีความเข้มข้น และต้องขอชื่นชมในความพยายามของเด็กๆทุกคน เราเชื่อว่าทุกทีมมีความเต็มที่ ทุกทีมมีความตั้งใจเราชื่นชมในทุกความพยายาม ไม่ว่าจะได้รับหรือไม่ได้รับรางวัลก็ตามในระหว่างทางที่เขาไปแข่ง เวลาที่เขาเตรียมตัวการฝึกซ้อม ทีมเวิร์คในระหว่างการทำงาน ทุกอย่างสำคัญมาก ทำให้เรารู้ว่าเรามีเด็กๆที่พร้อมจะเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศ
ส่วนประสบการณ์ที่เด็กๆได้รับในระหว่างแข่งขัน ในการแข่งขันหุ่นยนต์ มันจะมีรูปแบบเกมที่ต้องให้เด็กๆแก้ ในระยะเวลาที่กำหนด เด็กๆต้องแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว ทีมเวิร์คต้องดี และต้องมีความแม่นยำสูง และในการทำภารกิจของหุ่นยนต์ก็ต้องมีความยืดหยุ่นสูง ต้องปรับแก้สถานการณ์ได้ตามรูปแบบของเกม ที่ต่างประเทศวางไว้ ซึ่งเด็กๆจะไม่รู้หน้างานว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร เพราะกติกาบางกติกาไม่ได้ฟิกตายตัว เพราะมาตรฐานของคะแนนสูงขึ้นทุกๆปี เพราะเห็นได้ว่าอันดับต้นๆหรืออันดับ 10 ขึ้นไปจะ คะแนนเต็มทุกทีมเลย
อยากจะฝากถึงเยาวชนหรือเด็กๆที่ชื่นชอบในการเขียน coding หรือการสร้างหุ่นยนต์ ก็ลองหาข้อมูลได้ จากเว็บไซต์ของ wro Thailand และต้องเริ่มฝึกเพราะทักษะในการเขียนโค้ดดิ้งเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ เด็กๆต้องไปเจอกับ AI ไปเจอกับหุ่นยนต์ ล้ำๆ มากมาย ในอนาคตใน Generation ของเขา ถ้าเด็กๆ สนใจก็ลองมาหาความรู้และลองมาดูการแข่งขัน ของ Wro ในแต่ละปีถ้าอยากจะเข้าร่วม
ด้าน นายชญานนท์ นินยวี เผยว่า ทีมพวกเราคือทีม KMIDS TDF พวกเราไปแข่งในรายการ WRO Future Engineers ได้ที่ 6 แข่งที่ประเทศตุรกี ก่อนหน้านี้ช่วง 6 เดือนที่แล้วพวกตนเริ่มทำหุ่นเริ่มดีไซน์ เริ่มฝึกใช้โปรแกรมแคท โมเดล 3 มิติ เริ่มดีไซน์ว่าหุ่นต้องใช้มอเตอร์ชนิดไหน ใช้คอมพิวเตอร์ชนิดไหน ในการคอนโทรล ในระหว่างการแข่งขันก็มีอุปสรรคเยอะมาก ตอนแข่งในรอบแรกจนเสียคะแนนทีมได้ 0 คะแนน เพราะว่าทีมเปิดเครื่องไม่ติด จึงต้องแก้ปัญหากันหน้างาน โดยไปหากาวร้อนมาติด หรือพวกบัดกรีมาบัดกรี ให้หุ่นมันรันได้ พวกตนคิดว่าพวกตนชนะใจกรรมการในเรื่อง Performance เพราะว่าหุ่นยนต์ของพวกเราเร็วที่สุด และได้คะแนนเต็ม และทำเวลาได้ดีที่สุด ต่อจากนี้เราจะมีการพัฒนาโครงงานในตัวที่ได้คะแนนไม่เต็ม เพราะมันมีตัวที่ทำให้พัฒนาเพิ่มได้
ส่วนใครที่สนใจหรืออยากจะ เข้ามาฝึกฝนเพื่อที่จะแข่งขัน ต้องให้เวลากับมันเยอะหน่อย พวกตนอยากจะขอบคุณทางโรงเรียน พี่มะเหมี่ยว คุณเจสันและ ด็อกเตอร์หนึ่ง ที่คอย support พวกเราให้เวลาและให้สถานที่ และช่วยเหลือในเรื่องของค่าใช้จ่าย และให้ครบทุกอย่างที่เราต้องการ และขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของคนในทีมและคุณพ่อคุณแม่ของตนที่ ช่วย support ทุกคน ทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องเวลา แทนที่พวกท่านจะใช้เวลาตรงนี้ในการพักผ่อนไปกินข้าวแต่พวกท่านใช้เวลาพวกนี้ในการช่วยเหลือเรา
เด็กหญิงกีรติกรณ์ ตั้งสกุลประเสริฐ เล่าว่า วันนี้ตนไปแข่งขัน และได้รางวัล อันดับ 3 ของโลก จากประเทศตุรกี ในประเภทการแข่งขัน Robomission รุ่u Elementary ก่อนหน้าที่จะไปแข่งขันพวกตนได้มีการซ้อมในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ อุปสรรคในการแข่งขันของเราคือแสงสว่างมากเกินไปในวันแข่ง แล้วตอนที่รู้ว่าได้รับรางวัลตนก็รู้สึกดีใจมาก ต้นเดือนจะขอบคุณครูแล้วผู้ปกครอง ที่สละเวลาสอน หลังจากนี้ตนก็จะมีการพัฒนาทีมของตนไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้ได้รางวัลที่สูงกว่านี้.