เมื่อวันที่ 28 พ.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์ พบว่ายังมีเมฆมากและฝนยังตกต่อเนื่อง เช้านี้กลุ่มฝนเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมตั้งแต่ จ.นครศรีฯ ลงไป

รายงานว่า พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า 28 พ.ย. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น กำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่อง จากสภาพอากาศแห้งและลมแรงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย โดยมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตราย จากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 67 และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากคลื่นซัดฝั่งไว้ด้วย

นอกจากนี้ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าในช่วงวันที่ 28 พ.ย. 67-1 ธ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า และมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ภาคกลางและภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับในช่วงวันที่ 28-30 พ.ย. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 2 ธ.ค. 67-4 ธ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น กำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าว จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามัน มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

โดยข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 28 พ.ย. 67-1 ธ.ค. 67 ขอให้ประชาชนในภาคใต้ตอนกลาง และตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกไว้ด้วย และขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 67 สถานการณ์แผ่นดินไหว (ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. 67-28 พ.ย. 67 ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 2.4 และ 3.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 1.4 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และขนาด 4.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา