เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กลุ่มผู้รับเหมาในโครงการพลังงานสะอาด CFP (Clean Fuel Project) โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ประกอบด้วย 28 บริษัทผู้รับเหมา ซึ่งมีมูลหนี้ค้างชำระที่ยังไม่ได้รับการชำระจากผู้รับเหมาหลัก UJV นาน 8 เดือน รวมเป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท ได้ร่วมกันลงสัตยาบัน ที่จะไม่ดำเนินงานในโครงการพลังงานสะอาดต่อ หากไม่ได้รับการชำระหนี้เก่าทั้งหมดจากผู้รับเหมาหลัก UJV โดยมีตัวแทนจาก 28 บริษัทเข้าร่วมเกือบ 50 คน

นายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชา คอนสตรัคชั่น จำกัด ให้เหตุผลของการลงสัตยาบันร่วมกันว่าเป็นเพราะผู้รับเหมาบางเจ้าถึงขั้นล้มละลายแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่บางเจ้าเริ่มมีปัญหา Cash Flow บางบริษัทก็เริ่มไม่มีเงินพอจ่ายค่าแรงคนงานและ supplier ขณะนี้บริษัทเหล่านี้ได้สูญเสียเครดิตในตลาดไปหมดแล้ว เพราะการติดค้างค่างวด supplier ซึ่งการขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการเช่าเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง และเป็นเรื่องยากที่จะกลับมาได้ง่ายเหมือนเดิม อีกทั้งทางธนาคารก็ไม่พิจารณาปล่อยกู้ให้สำหรับโครงการนี้อีกด้วย วันนี้ผู้รับเหมาจึงอยู่ในสภาพโดนทั้งขึ้นและล่อง

นายฉัตรมงคล ยังบอกอีกว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หาก UJV ไม่มีการชำระหนี้เก่าหรือเงื่อนไขการจ่ายค่างวดในอนาคตไม่ชัดเจน หรือชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญาอย่างเคร่งครัด ในทุกช่วงระยะเวลาของการดำเนินงานโครงการฯ ก็ถือเป็นการยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของคนงานทั้งหมดร่วมกว่า 10,000 กว่าชีวิตในการที่จะกลับมาทำงานกับบริษัทผู้รับเหมาช่วงอีก เพราะไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับเงินเดือนสม่ำเสมอ หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก ดังนั้นจึงเป็นเหตุสำคัญที่จะต้องมีการลงสัตยาบันร่วมกันว่าจะไม่กลับไปทำโครงการ CFP อีกหากหนี้เก่าทั้งหมดของพวกเราไม่ได้รับการเยียวยาหรือชำระ และเพื่อเรียกร้องให้เจ้าของโครงการพลังงานสะอาด กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับเหมาหลักดำเนินการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มผู้รับเหมาช่วงทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง ภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยไม่มีข้อยกเว้น

เพราะแม้ที่ผ่านมา กลุ่มผู้รับเหมาจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความช่วยเหลือและชี้แจงให้รับทราบถึงผลกระทบที่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ถูกเบี้ยวค่าแรงแม้จะส่งมอบงานตามสัญญาเป็นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 จนทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้รับเหมาช่วงรวมกว่าหลายราย และยังได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานกว่า 10,000 คน โดยมี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับมอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567

และในที่ประชุมได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาอย่างเร่งด่วนโดยมีการเชิญผู้เข้าร่วมเพิ่มคือ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยออยล์ และกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ ปตท. โดยชี้แจงให้ผู้รับเหมารวบรวมคำร้องทั้งหมดให้เป็นแบบผังเดียวกันเพื่อง่ายในการพิจารณาและเร่งรัดขบวนการให้รู้ผลภายใน 1 เดือน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในคณะกรรมการชุดนี้

หรือเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา จะได้นำหลักฐานวางบิลค่างวดงานเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เพื่อเอาผิดทางอาญาถึงที่สุดกับกลุ่ม UJV ผู้จัดการ ผู้กระทำการแทน ผู้รับเหมาหลักหรือผู้แทนและบุคคลเกี่ยวข้องฐานทุจริตหลอกลวง ไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญา และยังให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหนังสือค้ำประกันของผู้รับเหมาช่วงเป็นตัวประกัน ซึ่งทางผู้กำกับ สภ.แหลมฉบัง ก็จะเริ่มขบวนการสอบสวนตั้งแต่ 19 พ.ย. 2567 เป็นต้นไป

หรือเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ที่มีการนำกลุ่มผู้รับเหมาช่วงกว่า 3,000 คน เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บริหารบริษัท ไทยออยล์ ที่ด้านหน้าโรงกลั่นใน อ.ศรีราชา เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อนโดยขอให้ บริษัท ไทยออยล์ ช่วยเจรจาให้กลุ่ม UJV ยอมจ่ายค่าจ้างที่ยังค้างจ่าย จนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต้องเรียกประชุมร่วมทุกฝ่ายเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งหลังจากนี้กลุ่มผู้รับเหมายังจะขอพบผู้บริหารไทยออยล์ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามและติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ยังรอการตอบกลับจาก ไทยออยล์ อยู่