เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส นางซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมผู้นำมุสลีมะห์ นราธิวาส พร้อมคณะกรรมการชมรมร่วมต้อนรับ พล.ท.สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ประจำปี 2567

นางซารีนา กล่าวว่า การทำงานของเราเป็นการพัฒนาศักยภาพของครอบครัวในชุมชน ตั้งแต่เข้ามาทำงานทำให้ได้เห็นความรุนแรงภายในครอบครัว ตั้งแต่ 20 ปีก่อนเห็นว่าผู้หญิงที่มาร้องเรียนเรื่องความรุนแรง ภายในครอบครัว ที่เข้ามาร้องเรียนกับผู้นำศาสนา การมาของแต่ละเคส ทำให้เห็นว่าส่วนใหญ่แต่ละคนต้องรวบรวมความกล้า เพื่อที่จะมาพบกับผู้นำ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ตนและกลุ่มภรรยาผู้นำศาสนาทั้งหลาย เมื่อรับเรื่องจากผู้หญิงที่มาปรึกษาแล้วก็จะหลบให้เป็นในส่วนของผู้นำศาสนา ที่ทำหน้าที่นี้แต่สิ่งต่างๆทำให้ได้เห็นว่า “ผู้หญิงเราต้องการพลังของผู้หญิงด้วยกัน” ที่จะมาช่วย มาจับมือ มาเล่าความรู้สึกลึกๆข้างใน ที่ไม่สามารถบอกกล่าวกับผู้ชายคนไหนได้ ดังนั้น เราจึงได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส

เราจัดตั้งศูนย์มาตั้งแต่ปี 2559 ตั้งแต่ตั้งศูนย์มามีเคสเข้ามาร้องเรียนกว่า 3,000 เคส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเคสความรุนแรงในครอบครัว เคสสามีไม่มีความรับผิดชอบ ติดยาเสพติด และทำร้ายร่างกาย ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้หญิงด้วยกัน ให้มีความเข้มแข็ง ให้มีจุดมียืน มีรายได้เป็นของตัวเอง และท้ายที่สุดให้พวกเขาเหล่านี้สามารถสร้างคุณค่าให้กับตนเองได้

ศูนย์ให้คำปรึกษาไม่ได้มีแค่การรับเรื่องร้องเรียนอย่างเดียว เรายังรับเคสกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้พิการ ที่ไม่สามารถทำงานได้แต่ยังต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้นตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ขึ้นมา ได้พยายามขยายศูนย์ช่วยเหลือเสริมพลังสตรีไปยังระดับชุมชนกว่า 22 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ไม่ให้ทุกคนต้องเข้ามาที่ส่วนกลาง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในส่วนการทำงานนอกจากรับเรื่องร้องเรียนภายในครอบครัวแล้ว ยังมีการส่งเสริมอาชีพ และการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชน

เราทำงานมาแล้วกว่า 20 ปีแต่ไม่เคยหยุด แม้ในบางครั้งอาจจะมีงบประมาณ หรือไม่มีงบประมาณ ก็ไม่ได้มองในส่วนนั้น แต่ที่โชคดีเพราะในกลุ่มคณะกรรมการต่างมีเครือข่ายและผู้ที่สามารถสนับสนุนส่งเสริม แม้จะไม่ได้มาก แต่ก็สามารถนำมาใช้จ่าย และพิจารณาได้เป็นรายเคสไป “ความรู้สึกดีๆที่เรามีในการทำหน้าที่นี้ แม้จะไม่ได้เยอะแต่เราก็มีความสุขที่จะช่วยเหลือ และในวันนี้รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีคนให้ความสำคัญ การทำงานในส่วนนี้ไม่ใช่ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากมากมายและเราพร้อมที่จะทำมัน”

ทั้งนี้เราได้มีการจัดค่ายครอบครัว ที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูก และกลุ่มเสี่ยง ให้มาร่วมกิจกรรมและให้ทุกคนมาสะท้อน ความรู้สึก ของแต่ละคนความคิดเห็น ว่ามีมุมมองอย่างไรบ้าง มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง เพราะครอบครัวจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตามทุกคน จะมองย้อนกลับมาที่ครอบครัวเสมอ

พล.ท. สุรเทพ กล่าวว่า การดำเนินการของศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส สอดคล้องกับภารกิจของ ศปป.5 ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มจากระดับพื้นฐานคือความรุนแรงในครอบครัว หากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลง ปัญหาความรุนแรงในชุมชนและในจังหวัด ก็จะลดตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้