ในช่วงนี้ กระแสการพูดถึงการนำ “สัตว์” มาใช้งานเพื่อความบันเทิง การแสดงหรือทำคอนเทนต์ต่างๆนั้น ได้ถูกพูดถึงในสังคมไทยกันเป็นอย่างมาก แต่ในบางเนื้อหานั้น ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึง “การทารุณกรรมสัตว์” สิ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่จะมีโทษหรือมีเงื่อนไขแบบไหนนั้น วันนี้ “เดลินิวส์” มีคำตอบมาฝากกัน

สำหรับข้อกฎหมาย “การทารุณกรรมสัตว์” นั้น ทาง “กระทรวงยุติธรรม” ได้เคยเผยข้อมูลถึงกฎหมายน่ารู้ “ทำร้ายสัตว์เลี้ยงมีโทษสูงสุด จำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท อ้างอิงจากพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 3 มาตรา 20๒๐ มาตรา 31

โดยจาก พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้นเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครอง “สัตว์” โดยแบ่งเป็น สัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ การทำร้าย ทารุณสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ เพราะนอกจากเรื่องของคุณธรรม ยังเสี่ยงได้รับโทษจากกฎหมายที่กำหนดไว้อีกด้วย

ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยนิยามคำว่า “การทารุณกรรม” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.เป็นการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย
2.ให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @กระทรวงยุติธรรม