
https://www.sanook.com/news/9748486/
เข้าใจใหม่! หมออธิบายกระจ่าง “ฮีทสโตรก” โรคร้ายฤดูร้อน ไม่ใช่โรคเดียวกับ “สโตรก” พร้อมเตือน 5 กลุ่มเสี่ยง
นพ.วีรพันธ์ สุวรรณนามัย หรือ หมอวี ศัลยแพทย์ระบบประสาท และสมาชิกวุฒิสภา โพสต์คลิปผ่านทาง @dr.v_official เตือน “ฮีทสโตรก” อันตรายมาก ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้เลย พร้อมย้ำว่าไม่ใช่โรคเดียวกับ สโตรก (Stroke) หรือโรคหลอดเลือดสมอง
“ฮีทสโตรก” (Heatstroke) คือโรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิให้ต่ำลงได้ ส่งผลให้ขึ้นไปสูงถึงประมาณ 40 องศาเซลเซียส อาจทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลวได้ และมีอาการผิวแห้ง รู้สึกตัวร้อน ปวดหัว มึนงง หน้ามืด คลื่นไส้อาเจียน หรือถ้าเป็นหนักอาจถึงขั้นสับสน เพ้อ หรือหมดสติได้
ดังนั้น ในช่วงที่อากาศร้อน หากพบว่าตนเองมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบหาที่อากาศเย็น ดื่มน้ำ หรือคลายเสื้อออก เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจากอาจจะกำลังเผชิญอาการฮีทสโตรกในเบื้องต้น
ใครบ้างที่ต้องพึงระวังเป็นพิเศษ สุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก?
เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่สามารถพูดบอกได้ว่ารู้สึกอย่างไร
ผู้สูงอายุ แนะนำว่าอย่าออกนอกอาคารบ่อยๆ
คนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคความดัน, โรคหัวใจ
คนที่ทำงานกลางแจ้ง
นักกีฬา ที่มักออกกำลังกายกลางแจ้ง
ทั้งนี้ คุณหมอยังแนะนำการป้องกันโรคฮีทสโตรก นอกจากหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดๆ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ, นอนกลับพักผ่อนให้เพียงพอ, ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ส่วนการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นนั้น ควรรีบพาผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก ไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นหรือถ่ายเทสะดวก “ทันที” ถอดเสื้อผ้าหนาๆ ออก, เปิดพัดลมเป่า, ใช้น้ำราดตัว (ไม่ราดบริเวณใบหน้า), ให้ดื่มน้ำหากยังมีสติอยู่, ใช้ผ้าเย็นเช็ด และประคบตามชุดชีพจรต่างๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด