มาร์เก็ตเพลส

ขายตรงและตลาดแบบตรง ต่างกันอย่างไร ต้องวางเงินประกันให้ สคบ.เท่าไหร่
October 17, 2024

การขายตรงและตลาดแบบตรง แตกต่างกันอย่างไร ต้องวางเงินประกันให้ สคบ.เท่าไหร่ หลังดีเจเคนโด้ทวงถามว่าทำไมไม่มีการพูดถึงเงินตรงนี้ เพื่อเยียวยาให้กับผู้เสียหายดิไอคอนกรุ๊ป

ประเด็นร้อนแรงที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่มีประชาชนได้รับความเสียหายหลายแสนคน ส่วนเจ้าของและผู้บริหารหรือที่เรียกกันว่า “บอส” ถูกจับกุมทั้งหมด เรียกได้ว่าคดีนี้สะเทือนทั้งแวดวงธุรกิจ สังคม และวงการบันเทิง อย่างไรก็ตาม มีความสงสัยกันว่า การจดทะเบียนการขายตรง และ ตลาดแบบตรง มีความแตกต่างกันอย่างไร การวางเงินประกันการทำธุรกิจคิดแบบไหน และเงินเหล่านี้จะนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง หลังจากที่ ดีเจเคนโด้ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร ได้ออกมาตั้งคำถามว่าทำไม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถึงไม่มีการพูดถึงเงินในส่วนนี้เลย ทั้งๆ ที่มีเจ้าทุกข์มาร้องเรียนจำนวนมาก

การขายตรงและตลาดแบบตรง แตกต่างกันอย่างไร

การจดทะเบียนการขายตรง และตลาดแบบตรงนั้น อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ซึ่งสาระสำคัญ ดังนี้

การขายตรง (Direct Selling) คือ วิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ขายหรือเรียกว่าผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง นำสินค้าไปขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงถึงบ้านหรือสถานที่อื่นที่มิใช่ร้านค้าปกติทั่วไป

การตลาดแบบตรง (Direct Marketing) คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ดังนั้นการทำตลาดโดยใช้สื่อในการนำเสนอ การขายสินค้าออนไลน์หรือธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เช่น แอปหรือแพลตฟอร์มต่างๆ จึงเป็นการขายในตลาดแบบตรง

ผู้ที่จะทำการตลาดแบบตรงไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หากไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้านั้นๆ มีความผิดจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

istock-1007808310

การวางเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง

สำหรับเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงนั้น กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงระบุว่า กฎกระทรวง ว่าด้วยตั้งหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 หากไม่นำหลักประกันการประกอบธุรกิจมาวางหรือนำมาวางไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง/ตลาดแบบตรง

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่วางเงินหลักประกันจะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หากฝ่าฝืนแล้วยังทำอยู่ก็จะปรับวันละ 20,000 บาท จนกว่าจะหยุดประกอบการ

สำหรับหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง มี 2 แบบ คือ แบงก์การันตีและเงินสด ซึ่งมีไว้สำหรับจ่ายให้กับในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้านั้น

วงเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้อื่นคำขอรายใหม่ ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท
(2) ผู้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงแล้ว
– กรณีมีรายได้ไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท
– กรณีมีรายได้เกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท
– กรณีมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท
– กรณีมีรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

วงเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ยื่นคำขอรายใหม่
– กรณีบุคคลธรรมดา ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท
– กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท
(2) ผู้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแล้ว
– กรณีมีรายได้ไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท
– กรณีมีรายได้เกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท
– กรณีมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท
– กรณีมีรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

istock-1251414301

ล่าสุด ดีเจเคนโด้ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร ได้เผยถึงเรื่องนี้ผ่านรายการ ทุบโต๊ะข่าว อมรินทร์ ทีวี เอชดี หมายเลข 34 ว่า บริษัทที่ทำธุรกิจแบบนี้มีอีกเป็นร้อยบริษัท โดยที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกใบอนุญาตขายตรงให้ตลอด ซึ่งบริษัทที่ทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ทุกบริษัทมีใบ สคบ. และการจะจดทะเบียนจะต้องทำผ่านบริษัท ทำไมคนธรรมดาเข้าถึงไม่ได้ แต่คนมีเงินอยากได้ก็แค่แป๊บเดียว

และอยากเปิดข้อมูลว่า การจดทะเบียนอนุญาตจาก สคบ.ทุกบริษัทจะต้องวางเงินประกันความเสี่ยงไว้ โดยประเมินจากการเติบโตของบริษัท ตนเองก็เคยจดทะเบียนบริษัทเล็กๆ ก็ต้องวางเงินไป 25,000 บาท เพราะหากเกิดความเสียหายกับผู้บริโภค ทาง สคบ.ก็จะนำเงินจำนวนนี้ไปเยียวยา แล้วคิดว่าบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปที่ใหญ่โต มีรายได้ขนาดนี้ จะต้องวางเงินประกันความเสี่ยงไว้เท่าไหร่ แต่เมื่อเกิดความเสียหายกลับไม่มีใครพูดถึงเงินก้อนนี้เลย ทำไม สคบ.ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่สามารถนำออกมาใช้ได้เลย กว่าจะฟ้องร้องนำทรัพย์มาเฉลี่ยทรัพย์คืนผู้เสียหายก็นานหลายปี ขนาดเมจิกสกินที่ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังไม่มีใครได้เงินคืนเลย Forex ก็ยังไม่ได้ ยูฟันที่ผ่านมาเป็นสิบปีก็ยังไม่มีใครได้เงินคืน

1729147544052_2

ดิไอคอนกรุ๊ป เหมือนเมจิกสกินแบบเป๊ะๆ เพราะยังไงก็ไปต่อไม่ได้แล้ว การเข้ามาของบอสดาราทั้งหลาย บอกเลยว่าเขาเห็นแค่เปลือก เห็นออฟฟิศ เห็นสินค้า เห็นความร่ำรวย แต่เขาไม่รู้เลยว่าระบบแม่ทีมนั้นโหดร้ายแค่ไหน แม่ทีมมีทั้งดีและชั่ว ส่วนที่บอสพอลบอกไม่รู้เลยว่าแม่ทีมไปทำอะไรกันมาบ้างนั้น บอสพอลเป็นเจ้าของบริษัทจะมาบอกไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ บางคนที่เข้ามาร่วมลงทุนยังไม่รู้เรื่องสินค้าเลย รู้แค่ว่าชวนคนได้เยอะยิ่งรวย ส่วนบอสดาราจะโดนบทลงโทษอะไรหรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูว่ามีเจตนาหลอกลวงคนมาหรือไม่ หรือก็โง่ถูกหลอกมาเหมือนกัน ดาราเองก็มีส่วนที่ทำให้คนเข้ามาทำธุรกิจ เพราะคนนับถือว่ามีชื่อเสียง ซึ่งดาราก็ต้องไปสืบว่ามีคนเอาเครดิต ชื่อเสียงของตนไปแอบอ้างหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องไปฟ้องร้องอีกที

1729148652278_1

ส่วนที่คนบอกว่า ตอนเกิดเหตุแรกๆ ทำไมเงียบไป ตนบอกเลยว่าตนพูดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกแต่ไมได้ออกสื่อหลักเพราะมีคนขอว่าอยากให้ไปพูดที่นี่ก่อน ไม่ใช่ว่าไม่อยากพูด ตนรับผู้เสียหายมาตั้งแต่วันแรก ตนพูดเรื่องนี้ทุกวัน ไม่เคยเงียบ และอยากให้มาจับมือกันช่วยกันทำให้ธุรกิจนี้หายไปจากประเทศไทย


บทความเพิ่มเติม