ศึกฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2024/25 รอบ “ลีก เฟส” นัดห้า คู่ระหว่าง […]
แพทยสภาตรวจสอบ ยันบอสหมอเอก ไม่มีชื่อในฐานข้อมูล ชี้จบเทคนิคการแพทย์ ไม่สามารถใช้คำว่านายแพทย์ หรือ คำย่อที่บ่งบอกว่าเป็นแพทย์ได้
วันที่ 13 ต.ค.67 เกี่ยวกับประเด็นเรื่องธุรกิจยักษ์ใหญ่ ดิไอคอน กรุ๊ป ที่มีเหล่าดาราคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์และมีรายชื่อเป็นผู้บริหารในองค์กร
ขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนแห่ส่องประวัติ บอสหมอเอก หนึ่งในทีมผู้บริหาร จากลูกชาวนา สู่บอส ดิไอคอน กรุ๊ป The Icon Group
ก่อนที่เพจดังออกมาแฉข้อมูลเรื่องราว บอสหมอเอก โดยกล่าวอ้างว่า มีการสร้างภาพปลอม เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและสุขภาพ มีการจัดฉากมากมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่แพทยสภา เพื่อตรวจสอบ รายชื่อของ บอสหมอเอก ในระบบของแพทยสภา ปรากฏว่าผลการตรวจสอบรายชื่อ ไม่พบชื่อของ บอสหมอเอก อยู่ในระบบของแพทยสภา
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ นายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการ แพทยสภา ระบุว่าสำหรับคนที่จะใช้คำนำหน้าชื่อว่า นายแพทย์ หรือแพทย์หญิง ในประเทศไทย ต้องมีการสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียน จึงจะสามารถใช้คำว่านายแพทย์ หรือ แพทย์หญิงได้ และจะได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบของแพทยสภา และประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางช่องทางออนไลน์ นอกจากจะตรวจสอบได้ว่าเป็นแพทย์หรือไม่ ยังสามารถตรวจสอบว่าแพทย์รายดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญหรือความชำนาญด้านใด
ส่วนกรณี ที่เป็นกระแสข่าวอยู่วันนี้ ที่มีด็อกเตอร์ท่านหนึ่ง อ้างว่าตนเองนั้นเป็นหมอ ซึ่งทางแพทยสภาได้มีการนำชื่อและนามสกุล มาตรวจสอบในระบบ ฐานข้อมูลแล้ว ปรากฏว่าไม่พบ ข้อมูลอยู่ในระบบของแพทยสภาแต่อย่างใด และถือว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นนายแพทย์ในประเทศไทย ส่วนจะเป็นแพทย์จากทางสภาอื่นๆหรือไม่นั้น ต้องไปตรวจสอบ จากหน่วยงานต้นสังกัดอีกครั้ง
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังได้พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมปี 2525 เขียนห้ามเอาไว้ว่า ห้ามการใช้คำว่าแพทย์ นายแพทย์ หรือแพทย์หญิง หรือนายแพทย์หญิง หรือ คำย่อ ที่บ่งบอกว่าเป็นแพทย์ ยกเว้นได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต หรือประกาศนียบัตรเกี่ยวกับแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ซึ่งกฎหมายจะห้ามใช้คำเหล่านี้เพียงเท่านั้น ส่วนคำว่า หมอ เนื่องจาก พ.ร.บ.วิชาชีพ ไม่ได้มีการห้ามเอาไว้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพ เวชกรรม
ส่วนกรณีที่มีการใช้คำว่า หมอนั้น มองว่าคำว่า หมอ เป็นคำกลางๆ ที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าใครจะมีสิทธิ์ใช้คำว่าหมอบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะคิดว่าหมอ ก็ต้องเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งการรักษาผู้ป่วย ก็มีหลายวิชาชีพ จึงทำให้คำว่า หมอนั้น ใช้ได้ทั่วไป แต่อาจจะเข้าข่ายความผิด ในกรณีที่หากผู้ที่ใช้ไม่ได้มีการเรียนจบในด้านวิชาชีพ ด้านการแพทย์เลย แต่ใช้คำว่าหมอ เพราะเมื่อมีคำว่าหมอเกิดขึ้นก็จะถูกตั้งคำถามว่าจบอะไรมา
ส่วนกรณี การจบการศึกษา ด้านเทคนิคการแพทย์ จะไม่สามารถใช้คำว่าแพทย์ นายแพทย์หรือแพทย์หญิง หรือนายแพทย์หญิง หรือ คำย่อที่บ่งบอกว่าเป็นแพทย์ได้.