เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่สำนักงาน อบจ.ขอนแก่น นายวัฒนา ช่างเหลา นายก อบจ.ขอนแก่น ประชุมร่วมคณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน คณะผู้บริหารฯ และคณะที่ปรึกษา เพื่อวางแผนการดำเนินงานสำรวจถนนทุกเส้นทางของ จ.ขอนแก่น เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานปรับปรุงซ่อมแซม ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 26 อำเภอของจังหวัด ตามแผนงานต่อเนื่อง 4 ปี โดยมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายวัฒนา กล่าวว่า จากการรับหน้าที่ นายก อบจ.ขอนแก่น ตามความไว้วางใจของประชาชนทั้งจังหวัดให้มาทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ เพื่อให้ จ.ขอนแก่น ก้าวไปข้างหน้า และเกิดการเปลี่ยนแปลงตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งยอมรับว่าด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนมากที่ต้องแก้ไข เพราะจากการลงพื้นที่หาเสียงและลงพื้นที่ดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ถนนขอนแก่นบางช่วงยังเป็นถนนไส้กรอก คือทำเป็นช่วง เป็นทอด ไม่สอดคล้องและสอดรับกับความเป็นจริง ซึ่งตนเองชัดเจนว่าในยุคที่ตนเองบริหารงานนั้นถนนไส้กรอกต้องไม่มี

“งบประมาณ อบจ.ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท และพบว่าในงบปี 68 เป็นงบด้านถนนเพียง 600 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 300 ล้านบาท เป็นเรื่องของถนนลูกรังและหินคลุก ซึ่งในยุคที่ผ่านมาผมไม่ก้าวล่วง แต่เมื่อผมมารับตำแหน่งใหม่ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานจะต้องทำทันทีและขอหยุดโครงการถนนลูกรังและถนนหินคลุกไปก่อน วันนี้ได้มอบหมายกองช่างและมอบหมายคณะผู้บริหารของ อบจ. ประสานงานร่วมผู้บริหารท้องถิ่น และผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่า ถนนเส้นใดเป็นความรับผิดชอบของ อบจ. ซึ่งถนนกลุ่มนี้จะต้องซ่อมแซม ปรับปรุงทันที” นายก อบจ.ขอนแก่น กล่าว

นายก อบจ.ขอนแก่น กล่าวต่อว่า ถนนเส้นทางอื่นๆ ว่าอยู่ในส่วนของหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นของเทศบาลฯ อบต. ชลประทาน โยธาธิการฯ หรือหน่วยงานอื่นๆ ถนนกลุ่มนี้หาก อบจ. จะประสานการทำงานและบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ตามระเบียบและข้อกฎหมาย ก็จะมีการหารือการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การคมนาคมขนส่งและการสัญจรของชาวขอนแก่น และผู้ที่มาใช้บริการสะดวกและคล่องตัว ตรงตามความต้องการของประชาชนว่า จะเหมาะสมกับถนนลาดยางหรือถนนคอนกรีต ก็จะต้องดำเนินงานอย่างเร่งด่วน

นายก อบจ.ขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอความร่วมมือทุกท่านในการจัดส่งข้อมูลถนนที่ชำรุด ทรุดโทรม หรือได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือเหตุต่างๆ หรือแม้กระทั่งถนนลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร หรือถนนที่ยังไม่ได้รับการจัดสร้างหรือซ่อมแซมในทุกพื้นที่ โดยขอให้ส่งมายังเทศบาลฯ หรือ อบต. หรือผู้นำชุมชนแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะสรุปเรื่องส่งมายัง อบจ.ขอนแก่น ตามขั้นตอน และที่สำคัญคือขอภาพถ่ายที่เป็นปัจจุบัน ทำเลที่ตั้งหรือโลเคชั่นของถนนเส้นทางต่างๆ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบและประเมินการแก้ไขเร่งด่วน หรือตามแผนงานตามห้วงงบประมาณในแต่ละปี อีกทั้งยังคงสามารถส่งข้อมูลมาที่เฟซบุ๊ก อบจ.ขอนแก่น หรือ เฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง ซึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและประสานงานในระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนต่อไป.