เมื่อวันที่ 13 ม.ค.เพจTensia ซึ่งเป็นเพจหมอ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
ฝ่ามือแดงจากหลอดเลือดขยาย (Palmar erythema) เกิดจากตับแข็งจนมีฮอร์โมน estrogen คั่งทำให้หลอดเลือดฝอยฝ่ามือเปิดใช้งานมากขึ้น ร่วมกับหัวใจสูบฉีดเลือดแรงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญของตับแข็งก็คือ สุรา ไวรัสตับอักเสบ และไขมันพอกตับจากเมตาบอลิซึมผิดปกติ
ภาวะฝ่ามือแดงแบบในภาพ เรียกว่า Palmar erythema คือจะแดงเฉพาะผิวหนังฝ่ามือถ้าฝั่งนิ้วโป้ง-นิ้วก้อย (Hypothenar – thenar eminence ) แล้วเว้นตรงกลางเอาไว้ แล้วไปแดงอีกทีตรงฝ่านิ้ว ( Finger pulp )
ภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุนะคะ ที่พบบ่อยคือตับแข็ง (แต่ก็ความชุกแค่ 25.6%) รองลงมาคือกลุ่มโรคที่การขยายหลอดเลือด เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ, หลอดเลือดผิดปกติ เช่นในเบาหวาน
แล้วตับแข็งไปทำให้มือเป็นอย่างนี้ได้ไง
การเรียนรู้กลไกของฝ่ามือแดงนี้ ทำให้เข้าใจการดำเนินโรคของตับแข็งเยอะเลยค่ะ
ตับแข็ง (Cirrhosis) เกิดจากตับโดนทำลายเรื้อรัง เช่นจาก ดื่มสุราเรื้อรัง, ไวรัสตับอักเสบบีและซี, ไขมันพอกตับ เป็นต้น ทำให้เซลล์ตับแบ่งตัวทดแทนไม่เต็มที่ ถูกเติมเต็มด้วยพังผืดที่สร้างจาก Ito cell ผสมปนเปเป็นตุ่มแผล (Regenerative nodule) กระจายทั่วตับ ทำให้นอกจากตับจะทำงานได้น้อยลงแล้ว การไหลของเลือดผ่านตับก็ทำได้ยากมาก
ผลคือระบบเลือดดำจากทางเดินอาหาร (Portal vein) ที่ต้องเทเลือดเข้าตับนั้น เลือดผ่านตับยากมาก เลือดคั่งในหลอดเลือดนั้นจนมีความดันในหลอดเลือดนี้สูง (Portal hypertension)
จุดนี้คือจุดเริ่มต้นของหายนะมากมาย เพราะมันเป็นระบบหลอดเลือดดำที่ใหญ่มากๆ ค่ะ
ระบบหลอดเลือดฝอยในผนังกระเพาะลำไส้ โดนก่อนเลย เพราะเลือดมันต้องผ่านต่อไปยังระบบหลอดเลือด Portal vein เพื่อมุ่งหน้าไปยังตับ เลือดจะคั่งตามผนังลำไส้ บางส่วนรั่วออกมาที่เนื้อเยื่อที่ผนัง จนผนังเริ่มอ่อนแอ แบคทีเรียในลำไส้บางส่วนที่เคยเป็นพวกเดียวกัน พอเป็นช่องโหว่ ก็แหกผนังเข้าระบบหลอดเลือดเลย
เรียกภาวะนี้ว่า Bacterial translocation
ดังนั้นในผู้ป่วยตับแข็งที่เป็นมาระดับนึงแล้ว จะมีแบคทีเรียในกระแสเลือดอ่อนๆ ตลอดเวลา ระบบภูมิคุ้มกันพยายามขนกองทัพมาสู้ แต่ยิ่งสู้ ก็ยิ่งปล่อยสารก่ออักเสบ สารก่ออักเสบเหล่านี้ก็พยายามขยายหลอดเลือด เพื่อให้เม็ดเลือดขาวไหลมาหาเยอะๆ แรกก็ขยายเฉพาะระบบหลอดเลือดทางเดินอาหาร (Splanchnic circulation) แต่ยิ่งโรครุนแรงขึ้น ก็ยิ่งขยายไปทั่วร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะที่ผิวหนัง
แต่การขยายของหลอดเลือดทั่วๆ เสมือนกับท่อที่ใหญ่ขึ้น แต่ปริมาตรเลือดเท่าเดิม ดังนั้นความดันเลือดปกติจะไม่พอแล้ว หัวใจเลยสูบฉีดเลือดรุนแรงขึ้น เพื่อเติมเต็มหลอดเลือดที่ขยายนี้ ผู้ป่วยตับแข็งจึงมีระบบไหลเวียนที่ไหลรุนแรงค่ะ เรียกว่า Hyperkinetic circulation
ไม่เพียงเท่านั้น ตับที่เคยทำหน้าที่กำจัดฮอร์โมนเพศทิ้ง ก็ทำได้น้อยลง ทำให้เริ่มมีฮอร์โมน Estrogen คั่งในกระแสเลือดมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยผู้ชาย ฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ที่กำจัดได้น้อยลงนั้น ก็จะถูกเปลี่ยนมากองในสภาพ Estrogen เหมือนกัน
และภาวะ Estrogen ที่สูงนี่แหละค่ะ ได้เข้ามาขยายหลอดเลือดแดงจิ๋วตามผิวหนัง, คลายหูรูดที่เคยเปิดหลอดเลือดฝอยบางแขนง ทำให้เปิดใช้งานระบบหลอดเลือดฝอยแทบทุกจุด (Capillary recruitment)
จุดที่โดนมากที่สุด ก็จะเจอกับระบบไหลเวียนทั่งร่างที่รุนแรงอยู่แล้ว ดันเลือดเข้ามาเติมค่ะ ทำให้เห็นเป็นผิวหนังแดง แต่กดแล้วจางค่ะ เพราะกดแล้วหลอดเลือดที่ขยายก็ตีบลง แต่พอปล่อยมือก็กลับมาขยายแบบเดิม
สรุป:
ตับแข็งทำให้เกิด palmar erythema เพราะ
1 เลือดผ่านตับลำบาก ระบบหลอดเลือดที่ผนังลำไส้เสีย แบคทีเรียเข้าเลือด ภูมิคุ้มกันสู้ ยิ่งสู้ยิ่งปล่อยสารขยายหลอดเลือด ยิ่งขยายหัวใจยิ่งบีบสู้ สุดท้ายเลือดไหลรุนแรงในร่าง
2 ตับกำจัดฮอร์โมนเพศ estrogen ได้ช้าลง ฮอร์โมนคั่งมากขึ้น ซึ่งมีฤทธิ์ทั้งขยายหลอดเลือด และเรียกใช้งานหลอดเลือดฝอยมากขึ้น
ขอบคุณเพจ Tensia