เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์แชร์ประสบการณ์สุดช็อก หลังเจ้าตัวกินชาเย็นทุกวัน สุดท้ายพบนิ่วเขากวางขนาดใหญ่ที่กรวยไต ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเสียค่าผ่าตัดถึง 1 แสนบาท จนชาวเน็ตต่างพากันสงสัยถึงสภาพของ “นิ่วเขากวาง” ว่าเป็นอย่างไรนั้น
-ค่าผ่าตัด 1 แสน! ผลของการ ‘กินแต่ชาเย็น’ ผงะ พบก้อนนิ่วขนาดใหญ่ในกรวยไต
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ม.ค. แฟนเพจที่มักเผยความรู้ทางการแพทย์อย่าง “Tensia” ได้ออกมาระบุว่า “นิ่วยักษ์รูปเขากวาง (Staghorn stone) มักเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โดยเชื้อผลิตด่างออกมา ทำให้นิ่วก่อตัวอย่างเร็ว อุดตันกรวยไตลามไปยังแขนงของกรวย คล้ายเขากวาง” นิ่วทางเดินปัสสาวะ (Urinary calculi) เกิดจากมีสารที่สามารถตกตะกอนได้เข้มข้นมากๆ และอยู่ในแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้นจึงขึ้นกับว่าเป็นนิ่วชนิดไหน เช่น นิ่วยูริก เจอในคนยูริกสูง, นิ่วแคลเซียมออกซาเลต เจอในคนที่มีออกซาเลตสูง และ นิ่วเขากวาง หรือ struvite stone ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น E. coli, Proteus spp. ซึ่งตำแหน่งที่ติดต้องอยู่สูงในระดับกรวยไต
เชื้อกลุ่มนี้มีเอนไซม์พิเศษชื่อ Urease ที่สามารถเปลี่ยนยูเรียในปัสสาวะ ให้กลายเป็นแอมโมเนียที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ปัสสาวะเดิมทีเป็นกรดนิดๆ ก็เริ่มกลายเป็นด่างมากขึ้น มากขึ้น ซึ่งเป็นแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี เกลือแร่บางชนิดตกตะกอนได้ค่ะ พอแวดล้อมเป็นด่างเต็มที่ เกลือแร่แมกนีเซียม (Mg²⁺) และฟอสเฟต (HPO₄²⁻) ในปัสสาวะก็เริ่มตกตะกอนเป็นคริสตัลอย่างรวดเร็ว เคลือบตัวเชื้อแบคทีเรียไว้ เพื่อเป็นแกนให้มันแบ่งตัวเอง และป้องกันตัวเองจากระบบภูมิคุ้มกัน “ทำให้บางคนมีปัญหาติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆ หายๆ มาระดับหนึ่ง (Recurrent pyelonephritis) ก่อนจะเจอนิ่วใหญ่ๆ แบบนี้”
ผลสุดท้ายสภาพปัสสาวะที่ด่างมากๆ ที่เริ่มตกตะกอนเป็นคริสตัลเล็กๆ ระหว่างทางมาแล้ว มาเจอกองนิ่วที่ติดคาอยู่ที่กรวยไต ทำให้ปัสสาวะผ่านยากขึ้น อยู่นิ่งขึ้น ก็ยิ่งตกตะกอนได้ง่าย “ก้อนนิ่วจึงใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ อัดเต็มกรวยไต (Renal pelvis) แล้วงอกตามเข้าไปในทางแขนงของกรวยไตด้วย (Renal calyx) ทำให้มีลักษณะคล้ายเขากวาง (Staghorn)” ใครที่มีอาการปัสสาวะแสบขัด ไข้ต่ำๆ อาจจะบ่งบอกว่ากระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือใครที่มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดสีข้าง อาจจะบ่งบอกว่าเป็นกรวยไตอักเสบ อย่าลืมไปพบแพทย์เพื่อตรวจแยกโรคว่าใช่หรือไม่ แล้วรับการรักษานะคะ
โดยถ้าเป็นในผู้ชาย คุณหมอจะประเมินอีกทีว่า ต้องตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะเพิ่มเติมหรือไม่ค่ะ (เพราะผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวมาก โอกาสการติดเชื้อเข้ามาลึกถึงด้านในๆ ค่อนข้างต่ำ)
โดยจากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทางเพจได้อธิบายเพิ่มด้วยว่า เป็นภาพจากผลการศึกษาที่พบ เคสใน NEJM “เป็นเคสผู้ป่วย 58 ปีมีประวัติติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นๆ หายๆ (Recurrent UTI) เอกซเรย์ไปเจอนิ่วรูปเขากวางสองข้างเลยค่ะ อุดขนาดนี้เลยมีค่าไตในเลือดสูงขึ้น คือน่าจะเริ่มมีไตเสื่อม” แบคทีเรียพวกนี้มันแสบมากค่ะ มันไม่ได้ผลิตแอมโมเนียสร้างด่างอย่างเดียว มันเตรียมเอา polysaccharide ของมันเอง เตรียมเป็นแกนให้เกลือแร่ตกผลึกค่ะ เหมือนเป็นกลไกป้องกันตัวของมันเพื่อให้อยู่รอดนานที่สุด แบ่งตัวเยอะสุด ก่อนจะโดนขับออกไปทางปัสสาวะ..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Tensia