ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ยังติดตามปัญหาการก่อสร้างโครงการระบายน้ำในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำรวม 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ตลอดทั้งปี 2567 ได้ถูกประชาชนเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรเอกชนทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเรียกร้องให้ตรวจสอบ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส กระทบต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่ที่มั่นคงของประชาชน ที่ผ่านมาปลายปี 2567 (ดร.ฉลาด ขามช่วง) ประธานคณะ กมธ.ป.ป.ช.สภา พร้อม กมธ.-คณะที่ปรึกษา ได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบปัญหาและได้เรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการ ป.ป.ช. ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาชี้แจง ครั้งนั้น กมธ.ป.ป.ช.สภา มีมติให้เรียกตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ขณะที่ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจะประกาศเวียน 2 ห้างหุ้นส่วน จำกัด ก่อนสิ้นเดือนมกราคมนี้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ จ.ร้อยเอ็ด ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (ปธ.กมธ.ป.ป.ช.สภา) นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษาประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภา (ขุนพลอีสาน) เปิดเผยว่า ปัญหางานก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน ลำน้ำปาว และแม่น้ำชี ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนชาวกาฬสินธุ์ โครงการที่ก่อสร้างไม่เสร็จทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนา และสร้างความเสียหายต่อภาครัฐด้านงบประมาณแผ่นดิน ปัญหางานก่อสร้าง หรือโครงการ “7 ชั่วโคตร” ที่ถูกพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ประณาม ประชาชนร้องเรียนตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2568 กินระยะเวลานาน 6 ปี ผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จแม้แต่โครงการเดียว และเรื่องนี้ได้เข้า กมธ.ป.ป.ช. ไปแล้วในช่วงปลายปี 2567 ที่ปรึกษา กมธ. ยังตั้งข้อสังเกตถึงอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารในจังหวัดว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เกิดปัญหานี้โดยที่ประชาชนไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ อีกทั้งยังมีข่าวว่ามีการข่มขู่ผู้ร้องเรียนด้วย ดังนั้นในปี 2568 ในการประชุม กมธ.ป.ป.ช.สภา ในสัปดาห์นี้ จะมีการนำปัญหานี้ยกเป็นมติเร่งด่วนเข้าพิจารณา ติดตามตรวจสอบอีกครั้ง โดยจะเชิญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจง เนื่องจากพบว่าการตรวจสอบ กมธ.-ที่ปรึกษาฯ ยังสงสัยอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตาม
“การตรวจสอบปัญหา 7 ชั่วโคตร ถือได้ว่า เป็นงานตรวจสอบเปิดศักราชใหม่สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการป้องกันปราบปรามการทุจริต เพื่อยืนยันว่าปัญหา 7 ชั่วโคตร จะเป็นต้นแบบในการป้องกันปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง การป้องกันการทิ้งงานเพื่อลดความเสียหายไม่ให้เกิดกับประชาชน ที่คาดว่า กมธ.ป.ป.ช. เมื่อนำเรื่องพิจารณาเป็นมติจะสามารถเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาได้ ในช่วงเดือนมกราคมเป็นอย่างช้า หรือไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ครั้งนี้จะเรียกผู้รับเหมาทั้ง 2 หจก. เพื่อเปิดโอกาสให้มาชี้แจงถึงสาเหตุที่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว รวมถึงผู้ควบคุมงาน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มาชี้แจงปัญหาอย่างละเอียด ขณะที่ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะได้ติดตามสอบถามสิ่งที่ยืนยันในที่ประชุมเกี่ยวกับการเวียนห้างฯ ตามระเบียบพัสดุกระทรวงการคลัง และทำความเข้าใจในส่วนความเสียหายทางแพ่งที่เกิดขึ้นในโครงการ ส่วนปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จะเชิญมาชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโครงการ ขณะที่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่พิทักษ์เงินแผ่นดิน จะเชิญมาชี้แจงประเด็นที่ตกค้างทั้งหมดก่อนที่จะสรุปเรื่องเพื่อทำรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร โดย กมธ.ป.ป.ช.จะทำงานคู่ขนานกับฝ่ายตรวจสอบองค์กรอิสระทั้งหมด”
ดร.ฉลาด กล่าวย้ำว่า ข้อสังเกตที่ยังตกค้างและยังไม่ได้รับคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ได้รวมอยู่ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างทิ้งงาน รวมไปถึงหน่วยงานผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบติดตามทั้งหมด ปัญหานี้ ความเห็นของ กมธ.ป.ป.ช. เชื่อได้ว่ามีปัญหาการทุจริต ดังนั้นเพื่อความชัดเจนก่อนที่จะส่งรายงานไปยังสภา และฝ่ายตรวจสอบองค์กรอิสระ กมธ.ป.ป.ช. จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามอีกครั้งเพื่อจะให้ปัญหา 7 ชั่วโคตร ยุติในยุคนี้ ทั้งนี้ กมธ.ป.ป.ช. จะเดินหน้าทำงานในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการก่อสร้าง และให้มีมาตรฐานเป็นแนวทางการปฏิบัติในการปกป้องภาษีของแผ่นดินต่อไป