เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำที่ผ่านมาที่บริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ประเทศเมียนมา ได้นำคนไทยจำนวน 151 คน เป็นชาย 74 คน และหญิง 77 คน โดยบรรทุกมากับรถทัวร์โดยสารจำนวน 3 คัน มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ไทย

 โดยมีทางนายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมรับตัวและทำการคัดกรอง คัดแยกกลุ่มคนไทยทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ทีมสหวิชาชีพร่วมดำเนินการคัดกรองข้อบ่งชี้ ในการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM)

จากการสอบถามทางคนไทยที่ถูกส่งตัวกลับมา ต่างบอกว่าที่ไปทำเห็นว่ามีรายได้ดี และไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อถูกจับก็ไม่อยากที่จะไปทำอีก การถูกจับช่วงแรกในท่าขี้เหล็กนั้นลำบาก แต่เมื่อถูกตัดสินจำคุกที่เชียงตุงก็มีการดูแลที่ดีมีอาหาร 3 มื้อไม่ถูกทารุณอะไร แต่ก็ไม่อยากให้คนไทยไปทำงานประเภทนี้ เพราะจะถูกจับกุม

นายราชัน กล่าวว่า การรับตัวคนไทยทั้ง 151 คน เป็นไปตามกระบวนที่ทางจังหวัดจัดแผนไว้ ส่วนมากเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพเสียมากกว่า โดยจะมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคต่างๆไปติดกับญาติในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ก็มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรค มีเพียงรายเดียวที่มีอาการไอ ขณะเดียวกันก็จะมีการคัดกรองและซักประวัติว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ หรือได้รับผลกระทบจากกระบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ หากมีคดี หรือเข้าข่ายค้ามนุษย์ก็จะกันตัวไว้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

แต่เบื้องต้นยังไม่พบว่าใครมีคดีติดตัว หรือถูกหลอกจากกระบวนการค้ามนุษย์ เพราะส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปโดยสมัครใจ ซึ่งเมื่อซักประวัติหรือคัดกรองเสร็จก็จะปล่อยตัวกลับบ้านพร้อมญาติต่อไป คงไม่มีการดำเนินคดี เพราะทั้งหมดข้ามแดนไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยบอเดอร์พาส และกระทำความผิดในประเทศเมียนมา ซึ่งก็ได้รับโทษแล้ว ไม่มีความผิดในฝั่งประเทศไทย แต่ก็กำชับให้ทั้งหมดดูแลสุขภาพอย่างน้อยไปอีก 7 วัน และควรสวมหน้ากากอนามัย

“อยากเตือนคนไทยไม่ควรไปทำงานที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อถามทุกคนต่างก็ยืนยันว่าจะไม่กลับไปทำงานประเภทนี้อีกแล้วเพราะไม่คุ้ม ทั้งนี้คนไทยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่เมียนมาจับกุมใน จ.ท่าขี้เหล็ก ช่วงต้นปี 2567 เพราะมีการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบ่อนออนไลน์อย่างหนัก จึงมีคนไทยที่ทำงานอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ถูกจับจำนวน 154 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและบ่อนการพนันผิดกฎหมาย จึงส่งตัวทั้งหมดไปยังสถานีตำรวจท่าขี้เหล็กและศาลเมียนมาได้ตัดสินให้ต้องจำคุกทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 1 ปี แต่มีเยาวชน 2 คนถูกส่งกลับก่อนหน้านี้แล้ว และมีคนเสียชีวิต 1 คน จึงเหลือ 151 คนดังกล่าว”นายราชัน กล่าว