เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์ภาพโปรโมท พร้อมข้อความระบุว่า “หลังเที่ยงคืน 3 – รุ่งเช้า 4 มกราคม นี้ มี #ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ให้ลุ้นชมรับปีใหม่ !

หลังเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 02:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” ศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวมังกร (Draco) เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้คาดมีอัตราการตกสูงสุด 80 ดวงต่อชั่วโมง และไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ สามารถชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ แนะนำชมในสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม – 12 มกราคม ของทุกปี และมักมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 3 – 4 มกราคม สาเหตุเกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดเข้ากับสายธารเศษอนุภาคที่ดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) เหลือทิ้งไว้ขณะเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในทุก ๆ 5.5 ปี เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดเป็นลำแสงวาบที่คนบนโลกเรียกดาวตก

ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นกลุ่มดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ สำหรับชื่อของฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids) ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือกลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ เป็นกลุ่มดาวที่ปรากฏในแผนที่ดาวในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว หากเทียบกับแผนที่ดาวปัจจุบันจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร”

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เพจ “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ”