อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุดว่า “อุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยวชน เรียกค่าทำขวัญได้หรือไม่”

โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า ในอดีตใช้คำว่า “ค่าทำขวัญ” ในอุบัติเหตุจราจร เนื่องจากรถโดยส่วนใหญ่ไม่มีประกันฯ และ พ.ร.บ. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นเรื่องของการตกลงค่าเสียหายกันเองของคู่กรณี โดยไม่มีหลักเกณฑ์ในการจ่าย ปัจจุบันใช้คำว่า “ค่าสินไหมทดแทน” แทน “ค่าทำขวัญ” เนื่องจากรถโดยส่วนใหญ่มีประกันฯ และ พ.ร.บ. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นเรื่องของการตกลงค่าเสียหายกับบริษัทประกันฯ โดยมีหลักเกณฑ์ในการจ่าย ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายให้ตามจริง รวมตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายทางทรัพย์สิน ค่าขาดผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ”

นอกจากนี้ “แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้หยุดงาน สามารถนำไปใช้เรียกร้อง “ค่าสินไหมทดแทน” กรณีที่ไม่ได้ไปทำงานจนขาดรายได้ ได้หรือไม่ และในกรณีที่แพทย์ผู้ทำการรักษา หรือแพทย์นิติเวช ออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุรายละเอียดการบาดเจ็บชัดเจน รวมถึงวิธีการรักษา และวันหยุดพักรักษาตัว สามารถนำไปใช้ในยื่น “ค่าสินไหมทดแทนกรณีไม่ได้ทำงาน” ได้ ซึ่งบริษัทประกันฯ หรือคู่กรณี จะจ่ายให้ตามหลักฐานจริง ว่ามีรายได้เท่าไหร่ต่อวัน และต่อเดือน แต่หากไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับรายได้ “ไม่มีสลิปเงินเดือน” อาจจ่ายโดยยึดตามค่าแรงขั้นต่ำรายวัน”

อีกทั้ง รถรอซ่อม ไม่มีรถไปทำงาน สามารถเรียกร้อง “ค่าสินไหมทดแทน” กรณีที่ไม่มียานพาหนะใช้ในการทำงานจนขาดรายได้ ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” แต่ต้องมีหลักฐานรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมที่ชัดเจนประกอบ ซึ่งสามารถเรียกร้อง “ค่าสินไหมทดแทน” กรณีที่ไม่มียานพาหนะใช้ในการทำงานจนขาดรายได้ ได้ดังนี้
1. รถยนต์ส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง รวมคนขับ เคลมได้อย่างน้อย 500 บาท หรือจำนวนวันที่รถซ่อม
2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะ ไม่เกิน 7 ที่นั่ง รวมคนขับ เคลมได้อย่างน้อย 700 บาท หรือจำนวนวันที่รถซ่อม
3. รถขนาดมากกว่า 7 ที่นั่ง เคลมได้อย่างน้อยวันละ 1,000 บาท หรือจำนวนวันที่รถซ่อม
4. รถประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้อ 1-3 เช่น รถจักรยานยนต์ ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องและข้อตกลงกันได้ โดยพิจารณาหลักฐานเป็นกรณี

อย่างไรก็ตาม “ถ้ารู้สึกผิดและอยากชดใช้ค่าทำขวัญ สามารถจ่ายเลยได้หรือไม่ คำตอบคือ “สามารถจ่ายได้เลย” แต่จะจ่ายให้ในรูปแบบของค่าเสียหายตามกรมธรรม์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายานพาหนะเสียหาย ด้วยการส่งไม้ต่อให้เจ้าหน้าที่ประกันไกล่เกลี่ยได้ทันที เว้นแต่ว่าไม่มีประกันภัยรถยนต์ หรือประกันขาด ในส่วนนี้จะต้องไปทำการไกล่เกลี่ยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือขึ้นโรงขึ้นศาลแทน เพื่อชดเชยค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนกันในลำดับถัดไป ซึ่งคุณต้องมีใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถเรียกค่าสินไหมจากคู่กรณีได้” หมอหมูกล่าว

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์