ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบนโลกออนไลน์มีการแชร์โพสต์ของ “นพ.เจษฎา ทองเถาว์” จิตแพทย์เจ้าของเพจ “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา” ได้ออกมาเขียนข้อความให้ข้อมูลเกี่ยวกับพินัยกรรมชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งมีรายละเอียดว่า
10 ประเด็นที่น่าสนใจของ พินัยกรรมชีวิต (Living Will)
จากที่หมอเคยพูดถึงซีรีส์ “การุณยฆาต” ช่องวัน31 เกี่ยวกับประเด็นการุณยฆาต (Euthanasia) และแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) ใน EP.ล่าสุดของเมื่อคืนก็มีประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ นั่นคือ *พินัยกรรมชีวิต* (Living Will) หมอเชื่อว่าหลายท่านอาจจะไม่เคยได้ยิน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวเราและควรรู้มาก ๆ
1. Living Will คืออะไร? Living Will อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ”หนังสือแสดงเจตนา“ คือเอกสารที่ระบุความต้องการของบุคคลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในกรณีที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ เช่น การปฏิเสธการช่วยชีวิตด้วยเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ไม่มีโอกาสฟื้นตัว
2. ประโยชน์ของ Living Will ช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจและปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วย ลดความเสี่ยงจากการรักษาที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมของผู้ป่วย
3. ใครควรมี Living Will? ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือภาวะที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจทางการแพทย์ที่ซับซ้อน ผู้สูงอายุ หรือ ทุกคนที่ต้องการกำหนดความต้องการของตนเองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
4. องค์ประกอบสำคัญของ Living Will โดยทั่วไปพินัยกรรมชีวิตมักประกอบไปด้วยรายละเอียดดังนี้
– ความต้องการรับการช่วยฟื้นคืนชีวิต การปฏิเสธการฟื้นคืนชีพ (Do Not Resuscitate – DNR) พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าหัวใจหยุดเต้นต้องการให้ปั๊มไหม ต้องการต่อเครื่องช่วยหายใจหรือไม่
– สถานการณ์ที่ต้องการยุติการรักษา (Withdrawal of Treatment) เช่น หากไม่มีโอกาสฟื้นตัวจากอาการโคม่า
– มีความต้องการบริจาคอวัยวะหลังเสียชีวิตมั้ย
– การจัดการความเจ็บปวด (Pain Management) ระบุวิธีการจัดการความเจ็บปวด เช่น การใช้ยาระงับปวดหรือการดูแลแบบประคับประคอง
– ระบุผูู้ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนในเรื่องทางการแพทย์ (Healthcare Proxy) หากผู้เขียนไม่สามารถตัดสินใจได้
– การดูแลในสถานพยาบาลพิเศษ (Hospice Care)
– คำแนะนำเฉพาะอื่น ๆ (Specific Instructions) เช่น ไม่ต้องการผ่าตัด ไม่ต้องการย้ายไปรักษาต่อในโรงพยาบาลอื่น หรือ ต้องการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ
5. Living Will กับกฎหมายไทย : กฎหมายไทยรองรับพินัยกรรมชีวิต ภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งให้สิทธิบุคคลในการปฏิเสธการรักษาที่ขัดต่อความต้องการ
6. Living Will ช่วยลดความเครียดของครอบครัวได้อย่างไร? งานวิจัยพบว่า ครอบครัวของผู้ป่วยที่มี Living Will จะมีความเครียดน้อยกว่าถึง 40% เพราะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
7. ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเมื่อทำ Living Will ได้แก่ ความเชื่อทางศาสนา ค่านิยมส่วนตัว และความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่
8. Living Will ในมุมมองจิตวิทยา : การทำ Living Will ช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองยังคงมีอำนาจในการตัดสินใจ
9. สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Living Will – จากการสำรวจในสหรัฐฯ พบว่า 67% ของผู้สูงอายุที่มี Living Will รู้สึกพอใจกับการวางแผนชีวิตของตนเอง แต่ในประเทศไทย มีเพียง 15% ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้นที่มี Living Will
10. Living Will สามารถเขียนคนเดียวได้หรือไม่
– แม้การเขียนลิฟวิ่งวิลล์สามารถทำได้คนเดียว แต่การมีพยานหรือแพทย์เซ็นรับรองจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในทางกฎหมายและป้องกันการโต้แย้งจากญาติในอนาคต
สรุป : 10 ประเด็นเกี่ยวกับ Living Will ข้างต้น แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกช่วงเวลา การทำความเข้าใจกับเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา