จากกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรม โดยให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง ในประเด็นของการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูผู้สอนภายในเรือนจำและทัณฑสถาน พร้อมการจัดทำหลักสูตรการศึกษาชายแดนใต้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้อยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ธันวาคม 2569 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับความร่วมมือจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการจัดการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำต้นแบบการศึกษา กับเรือนจำต้นแบบ 13 เรือนจำ ได้แก่ เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา เรือนจำกลางเชียงราย เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เรือนจำกลางปัตตานี เรือนจำกลางยะลา เรือนจำอำเภอเบตง เรือนจำกลางเขาบิน ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำอำเภอสีคิ้ว โดยได้รับความร่วมมือจากนายศุภชัย ไตรไทยธีระ ผู้อำนวยการมูลนิธิปัญญากัลป์ และคณะคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบไปด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิตและประธานสาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรวุฒิ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, อาจารย์ปวินญาพัฒน์ วรพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อาจารย์สุรเดช ลุนิทรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, อาจารย์พัชรี ระหว่างบ้าน นักวิจัยอิสระ ร่วมให้คำแนะนำในการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมให้เข้ากับบริบทในแต่ละเรือนจำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถูกคุมขัง ให้เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น พร้อมทั้งการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในเรือนจำต้นแบบ ตั้งแต่ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ กระบวนการ หลักสูตร แผนการจัดการศึกษา กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ นิเวศการเรียนรู้ รวมไปถึงคลินิกนิติจิตเวช จนสามารถเกิด โมเดล ในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ

การจัดการศึกษาผู้ต้องขัง เพื่อยกระดับคุณคุณภาพชีวิตให้ผู้ต้องขังมีความรู้อย่างน้อยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ หรือการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างสุจริตชน สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข และไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ

นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากการออกแบบหลักสูตร โมเดล ในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ มีแนวทางในการจัดการ อยู่ 3 รูปแบบ คือ ขั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การจัดการระบบนิเวศการเรียนรู้ การประเมิน สมรรถนะ และนิติจิตเวช ต่อมาคือ การออกแบบหลักสูตร เน้นฐานสมรรถนะ โดยมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดผล และการใช้สื่อและเครื่องมือ

โดยเฉพาะการเทียบโอนผลการเรียนให้เข้ากับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรที่วัดการศึกษาเป็นระดับ ตั้งแต่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย หรือเทียบเท่า การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาต่อเนื่อง การเทียบโอนความรู้ประสบการณ์กับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ การเทียบโอนจากหลักสูตรต่างประเทศ และการเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์ สุดท้ายคือการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้ามกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น

โดยตนมองว่า การจัดการศึกษาให้กับผู้ถูกคุมขัง ในเรือนจำและทัณฑสถาน มีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของเรือนจำ ที่มีแต่คนมองว่า เป็นสถานที่คุมขังนักโทษ แต่หากการจัดการโมเดลด้านการศึกษาเกิดขึ้น เรือนจำจะกลายเป็นสถาบันทางการศึกษาแห่งแรก ที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้น ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา รวมไปถึง ระดับชั้น ปวช. และ ปวส. รวมอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งยังสามารถออกวุฒิบัตรรับรองการศึกษา เพื่อให้ผู้ถูกคุมขัง เมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว สามารถมีวุฒิบัตร สามารถไปประกอบอาชีพสุจริตได้

ด้านนายอรรถสิทธิ์ ทองแสง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดศรีษะเกษ ได้กล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างโมเดล การจัดการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำต้นแบบ ทางเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ต้องขังประมาณ 1,800 คน แยกเป็นผู้ชายประมาณ 1,500 คน ผู้หญิงประมาณ 300 คน ซึ่งเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 13 เรือนจำ นำร่องในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว ตนมองว่าการให้การศึกษากับผู้ต้องขังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ พบว่ามีกลุ่มประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษมีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด 4 ชนเผ่า ประกอบด้วยเขมร ส่วย ลาว เยอ ซึ่งพบว่ากลุ่มประชากรผู้ต้องขังทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์ อยู่ในวัยที่ไม่ได้รับการศึกษาเลย โดยมีช่วงอายุส่วนใหญ่อยู่ที่ อายุ 30-40 ปี และยังพบว่ามีความรู้ต่ำกว่าระดับประถมศึกษา

การออกแบบหลักสูตร การจัดการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำต้นแบบ ที่ทางกรมราชทัณพ์ ร่วมมือกับทาง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัด จัดการศึกษาให้กับกลุ่มพี่น้องที่ถูกคุมขัง ให้เข้าถึงระบบการศึกษา ด้วยการจัดตั้งให้เรือนจำจังหวัดศรีษะเกษ ปรับรูปแบบเป็น สถาบันหับเผย เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษา ในขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงการพ้นโทษ

นี่คือเป้าหมายหลักที่จะต้องพัฒนาให้กลุ่มผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงที่ไม่มีการศึกษา อย่างน้อยจะต้องอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงยุติธรรม ที่เรือนจำจะต้องมีความจำเป็นขับเคลื่อนให้กลุ่มผู้ถูกคุมขัง ได้มีคุณภาพชีวิต อย่างน้อยออกไปก็จะต้องอ่านออกเขียนได้ หรือไปศึกษาต่อหลังจากที่พ้นโทษ นี่คือเป้าหมายหลัก โดยจะจัดรูปแบบการเรียนการสอน ออกเป็นทั้งกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ และผู้ที่รู้หนังสืออยู่แล้ว รวมไปถึงการศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. รวมไปถึงในขั้นของระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ยังมีการฝึกวิชาชีพเฉพาะทาง ที่ทางเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษเป็นเรือนจำแห่งแรก ได้พัฒนา คือหลักสูตรอาชีพ ตุ๊กตาทุเรียนจิ๋ว และสัปเหร่อ สามารถให้ผู้ต้องขังได้เป็นทางเลือก เป็นอาชีพเนื่องจากจังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกอาชีพเน้นไปในทิศทางที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน ก็จะไม่ตรงกับความต้องการ จึงได้มีการก็ได้ถอดโมเดลว่าอย่างน้อยการศึกษาของผู้ถูกคุมขังจะต้องตรงกับตลาดแรงงาน เมื่อพ้นโทษออกไปสามารถทำงานได้จริง

อีกทั้งชุดวิชาต่างๆ ที่เรือนจำทำอยู่ จะเก็บเป็นเครดิตแบงก์ คือหมายความว่าสิ่งต่างๆ ที่เรือนจำทำอยู่จะต้องเอามาใช้ประโยชน์ ไม่ให้สูญเปล่า เช่น การทำตุ๊กตาทุเรียนจิ๋ว ซึ่งมีที่แรกในประเทศไทย อย่างน้อยทุเรียนจิ๋วที่ผู้ต้องขังได้ทำจะต้องเป็นการฝึกวิชาชีพในเรื่องของหัตถกรรม การจักสาน หรือ การฝึกในเรื่องของสัปเหร่อ จะต้องเก็บเป็นเครดิตแบงก์ อย่างน้อยเมื่อผู้ถูกคุมขังพ้นโทษชุดวิชาเหล่านี้ ที่ทางสถาบันการศึกษารองรับ ก็จะเป็นเครดิตแล้วผู้ถูกคุมขังก็สามารถที่จะไปต่อยอดการศึกษาในระดับที่ต้องการต่อไปได้ นายอรรถสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย.