สื่อเผยรายละเอียดสัญญาใหม่ที่ โม ซาลาห์ จะเซ็นกับ ลิเวอร์พูล หลังคุยเรื่องระยะเวลาลงตัวที่พบกันครึ่งทาง ส่วนค่าเหนื่อยรับวีกละกว่า 4 แสนปอนด์ เดอะ […]
“นึกยังไงจัดชุดนี้” “เบื่อ” “จัดตัวแบบนี้แพ้” “ไม่ผ่านชุดนี้”
“ปรับจนหาตัวจริงไม่เจอ” “หาข้ออ้างเวลาแพ้”
“พีรดนย์ไม่ผ่าน” “อนันต์นั่งเถอะ”
“ควาย”
เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของคอมเมนต์มากมายที่พ่นออกมา “ก่อนเกม” ระหว่าง สิงคโปร์ กับ ไทย เมื่อค่ำวานนี้
ก่อนเกมนะครับ ฟุตบอลยังไม่เตะกันเลย เราตัดสินกันแล้ว เราไม่ให้โอกาสกันแล้ว เราดูถูกกันเองแล้ว..
เรื่องที่น่าเศร้าใจก็คือ ไม่กี่วันก่อน อาจารย์อิชิอิยังได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามอยู่เลยในดราม่าเดินขอบคุณแฟนบอล
“คุณต้องให้เกียรติโค้ชสิ” “คุณต้องฟังโค้ชสิ” “ต้องให้อำนาจเต็มกับเขานะ”
เรายังเพิ่งจะเรียกร้องความชอบธรรมให้โค้ชอยู่เลย เพิ่งจะเรียกร้องให้เขามีอำนาจเต็มที่ในการจัดการทีมอยู่เลย เพิ่งจะประกาศตัวว่าอยู่เคียงข้างโค้ชเต็มที่ เราทุกคนทุกฝ่ายต้องให้เกียรติการตัดสินใจของโค้ชอยู่เลย
แต่แล้วเพียงแค่อาจารย์อิชิอิประกาศรายชื่อ 11 ตัวจริงเกมเยือนสิงคโปร์ออกมา เขากลับโดนดูถูกว่าจัดตัวแบบนี้ได้ยังไง คำพูดหลายประโยคด้อยค่าเขา ใช้คำแบบที่ตีความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากไม่ได้เรื่อง ไม่รู้เดียงสา ไม่รู้จักนักฟุตบอลในทีมดีเท่าแฟนบอล
เอาคนนี้ลงได้ยังไง เอาคนนั้นลงได้ยังไง
“ควาย” คำพูดแบบนี้นะครับ หลุดออกมาได้จริง ๆ จากปากบางคน
อันที่จริงแฟนบอลอาจจะแค่ต้องการระบายความกังวลเท่านั้น กลัวทีมจะเล่นไม่ดี กลัวเกมจะไปไม่ได้ กังวลว่าสุดท้ายจะไม่ชนะ เรารักทีมชาติ เราไม่อยากผิดหวัง แต่เราอาจจะลืมไปว่ามันก็เป็นการสร้างกำแพงแห่งอคติขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน เพราะเราจะมองนักฟุตบอลคนนั้น ๆ ด้วยภาพลบจากความรู้สึกครั้งก่อน ๆ และทำให้การดูบอลมีอคตินำหน้าตั้งแต่เกมยังไม่เริ่ม
เราคงมัวแต่เอาภาพเก่า ๆ มาวางซ้อนทับเกมใหม่ที่กำลังจะมาถึง แล้วกังวลไปก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นอีกแน่ ๆ อยู่ร่ำไปไม่ได้หรอกครับ โค้ชไม่หยุดอยู่กับที่ นักฟุตบอลต้องไม่หยุดอยู่กับเกมเดิม ๆ ต้องพยายามพัฒนาจุดเด่น ปรับปรุงจุดด้อย เราแฟนบอลเองก็เช่นกัน ไม่ควรจมปลักอยู่กับความรู้สึกเดิม ๆ
เกมใหม่แล้ว มันก็คือการต่อสู้ครั้งใหม่ ไม่เกี่ยวอะไรกับเกมเก่า กับความกังวลนั้นเข้าใจได้ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการด่วนตัดสินใครโดยที่เกมยังไม่เริ่ม ส่วนโอกาสพิสูจน์ตัวเองของนักเตะ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโค้ชว่าจะให้เวลาแค่ไหน ให้กำลังใจด้วยคำพูดที่ดีต่อกันดีกว่า
นักเตะทีมชาติทุกคนลงไปเล่นก็เพื่อชาติ ต่างก็ปรารถนาจะทำผลงานให้ดีที่สุดทั้งนั้น ส่วนการจะได้ลงเล่นหรือไม่ได้ลงเล่นย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโค้ช ซึ่งก็มีมากมายหลากหลายเหตุผลอีก
แน่นอนโค้ชเลือกนักเตะด้วยฟอร์มการเล่นเวลานั้นหรือเกมที่ผ่าน ๆ มาเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งเลือกเพื่อความสมดุลของทีม บางครั้งเลือกเพื่อซื้อทีเด็ดที่นักเตะคนนั้นมี บางครั้งเลือกเพราะเหมาะสมกับแท็คติกของคู่ต่อสู้ บางครั้งเลือกเพื่อซื้อใจกัน เพื่อบอกว่ากูเชื่อว่ามึงทำได้
หรือในเกมที่เป็นทัวร์นาเม้นต์เตะกันถี่ 3 วันครั้ง บางทีการเลือกผู้เล่นก็ต้องละเอียดขึ้น เพราะเตะเกมนี้กระเทือนถึงเกมหน้า ทุกอย่างเชื่อมโยงกันเป็นทอด ๆ
ในเกมเยือนสิงคโปร์ สุภโชค สารชาติ, เอกนิษฐ์ ปัญญา, เบน เดวิส ยังไม่พร้อม อัครพงศ์ พุ่มวิเศษ กับ เสกสรรค์ ราตรี ก็เพิ่งจะเล่นเกือบเต็มเกมนัดเจอมาเลเซียเมื่อวันเสาร์ รายแรกเล่น 86 นาที รายหลังเล่น 90+4 นาที
แดนกลางและตัวรุกเหมือนภาคบังคับกลาย ๆ อย่างนี้ อีกทั้งเตะเกมนี้แล้ววันศุกร์ยังมีเกมกับกัมพูชาส่งท้ายรออยู่อีก การจัดตัวของอาจารย์อิชิอิมันไม่ได้เรื่องขนาดนั้นเลยหรือ ยังไม่รวมข้อเท็จจริงเรื่องการให้โอกาสผู้เล่นที่ทุกคนควรได้รับ
คนเป็นโค้ชมองเห็นในภาพรวม คือผลประโยชน์ของทีม คือเป้าหมายของทีม ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง หรือเกมใดเกมหนึ่ง เขาอาจทดลองเกมนี้เพื่อเน้นในเกมนั้น ทดลองเกมนั้นเพื่อเป้าหมายคือเกมโน้น ขณะที่ธรรมชาติของแฟนบอลจะมองหาจุดที่บกพร่อง หาคนที่เป็นจุดอ่อน หาใครที่ไม่เข้าพวก และทุกเกมต้องสมบูรณ์แบบ
โค้ชคิดและจัดตัวตามเงื่อนไขและปัจจัยที่มี บางครั้งพักตัวความหวังเอาไว้ก่อนด้วยซ้ำเพื่อส่งลงสนามช่วง 30 นาทีสุดท้าย ส่วนแฟนบอลย่อมอยากเห็นคนที่ดีที่สุดลงเล่นตั้งแต่นาทีแรก ถ้าผิดไปจากนี้ถือว่าผิด
สำหรับผม โค้ชเลือกใครผมเชียร์หมด คนที่อยากให้ลงแล้วไม่ได้ลงถ้ามีก็เฉย ๆ คิดว่าโค้ชเลือกแล้วเขาย่อมมีเหตุผลของเขา
เราอยากเห็น โค้ชก็คงอยากเห็นแต่มีเหตุผลอื่นที่ทำให้ไม่ได้เห็น หรือคนที่เล่นไม่ดีแต่ได้ลงก็แค่รู้สึกว่าต้องให้กำลังใจกันไป บอลยังไม่เตะเลย เกมนี้อาจจะระเบิดฟอร์มก็ได้ และเมื่อบอลจบเราก็มาวิเคราะห์วิจารณ์ถึงผลงานที่ออกมา
มีนักฟุตบอลมากมายที่พิสูจน์ตัวเองได้ และมีนักฟุตบอลอีกมากมายเช่นกันที่พิสูจน์ตัวเองไม่ได้ บางคนพลิกจากดินเป็นดาว บางคนดิ่งจากดาวสู่ดิน เราเองก็เห็นกันมาตลอดไม่ใช่หรือ
นักเตะชุดอาเซียน คัพ ชุดนี้เป็นชุดผสม มีทั้งคนที่เป็นตัวหลักและตัวเสริมสนับสนุน ไม่ใช่ชุดใหญ่เต็มอัตราศึกอย่างเกมคัดบอลโลกที่อยู่ในปฏิทินของฟีฟ่า
เราเรียกร้องกันด้วยซ้ำว่าฟุตบอลภูมิภาคแบบนี้หรือซีเกมส์เราต้องมองข้ามกันได้แล้ว ใช้เป็นเวทีให้โอกาสนักเตะได้แล้ว อย่าให้ความสำคัญกับผลการแข่งขันมากเกินไปนัก
เราอาจต้องย้อนถามตัวเองก่อนว่า แล้วเมื่อถึงเวลาเข้าจริง ๆ เราทำอย่างนั้นได้ไหม เราอดทนรอไหวไหม พร้อมจะให้โอกาสนักเตะทุกคนที่โค้ชเลือกไหม ไม่สนใจผลการแข่งขันจริงหรือ หรือทำใจได้ไหมว่าการเล่นดีเล่นแย่ในเกมก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการให้โอกาสนักเตะนะ ก็กระบวนการที่เราเรียกร้องนั่นแหละ
แล้วควรให้เวลานักเตะแต่ละคนนานเท่าไหร่? อันนี้อาจเป็นคำถามโลกแตก
3 เกม? 10 เกม? 6 เดือน? ปีครึ่ง..?
เวลาที่เหมาะสมของเราอาจไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายแล้วในทางสากลเวลานั้นย่อมอยู่ที่โค้ช เพราะความรับผิดชอบและอำนาจตัดสินใจเป็นของเขา
โค้ชคนนี้เป็นคนที่แฟนบอลยินดีมอบความไว้วางใจให้ มันไม่น่ามีปัญหา.. แต่ก็ยังอุตส่าห์มีปัญหา ตกลงว่าจะให้เกียรติแกหรือไม่ให้เกียรติแกดี ให้อำนาจตัดสินใจเป็นของแกแต่กลับพิพากษาการตัดสินใจของแกไปแล้วตั้งแต่เกมยังไม่เริ่ม
เป็นการย้อนแย้งทางความคิดของแฟนบอลบางคนภายในเวลาห่างกันแค่ 3 วัน
—————–
แน่นอนครับ ทุกการตัดสินใจมีความเสี่ยงที่จะผิดพลาด เพราะเราไม่มีทางรู้อนาคตอยู่แล้ว แต่การตัดสินใจของอาจารย์อิชิอิในครั้งนี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดี
เป้าหมายหลักในการโจมตีของแฟนบอลบางส่วนอย่าง พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี กับ อนันต์ ยอดสังวาลย์ ต่างมีส่วนร่วมกับประตู อนันต์จ่าย 2 ลูก พีรดนย์ยิงประตูชัย กระทั่ง วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ที่เป็นตำบลกระสุนตกอีกคนยังเปลี่ยนตัวลงมาเป็นคนแอสซิสต์ให้ “นิวฉ่ำ” ทำประตู 3-2
(อนันต์ที่ทำ 2 แอสซิสต์ก็ยังอุตส่าห์มีคนดูถูกเขาว่าเกมนี้ก็แค่ทำ 2 แอสซิสต์ ไม่ได้ทำอะไรอื่น)
สิงคโปร์โรยลงไปมากในช่วงหลังผ่านหนึ่งชั่วโมงของเกม อายุเฉลี่ย 28.2 ปี มากสุดในทัวร์นาเม้นต์และการขาดนักเตะตัวหลักหลายคนทำให้เกมของพวกเขาเป็นรองเราอย่างชัดเจน
หลังประตูตีเสมอของ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ในนาทีที่ 52 เราคาดหวังได้เต็มที่ถึงประตูแซงนำ มั่นใจลึก ๆ ด้วยซ้ำว่ามันต้องมาถึงแน่ไม่ช้าก็เร็ว หลังจากต้องหายใจไม่ทั่วท้องในครึ่งแรกที่โดนลูกยิงแบบสุดปัญญาป้องกันจริง ๆ ทั้ง 2 ลูก
ประตูตีไข่แตกในนาที 45+3 ของ พาทริก กุสตาฟส์สัน สำคัญมากเพราะทำให้เราตามหลังแค่ประตูเดียวแทนที่จะเป็น 2 ประตูในช่วงพักครึ่ง
ศุภณัฏฐ์ ยังคงแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการเล่นที่สูง มีความฟิต เร็ว เข้าใจเกม เทคนิคสูง อ่านสถานการณ์และเอาตัวรอดเก่ง สมกับที่เป็นแมนออฟเดอะแมตช์ 3 เกมซ้อนจากผลงานยิง 3 จ่าย 4
เกมนี้นอกจากโหม่งตีเสมอ 2-2 เจ้าแบงค์ก็เป็นคนสร้างโอกาสในประตูแรกด้วยการตอกส้นให้ อนันต์ ไหลบอลให้ กุสตาฟส์สัน ยิงตีไข่แตก และจ่ายให้ ธีรศักดิ์ เผยพิมาย ยิงปิดเกม 4-2 ถือเป็นกำลังสำคัญของทีมชุดนี้จริง ๆ และก็น่าตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อคิดไปถึงการกลับมาของ สุภโชค และ เอกนิษฐ์ ในเกมต่อ ๆ ไป
ผมชอบแพสชั่นและสปิริตทีมที่แสดงออกมาให้เห็น ทุกคนอยากชนะและพยายามเล่นกันเป็นทีม ไม่ลังเลที่จะส่งบอลให้เพื่อนที่อยู่ในตำแหน่งดีกว่า ลุยเข้าใส่แบบไม่หยุดเพื่อเอาประตูที่ต้องการให้ได้
ตอนที่กรรมการเช็ก VAR แล้วชี้มือไปที่กลางสนามเป็นสัญญาณว่าลูกยิงของ พีรดนย์ เป็นประตู 3-2 วีระเทพ ป้อมพันธ์ ที่ยืนลุ้นอยู่ในเฟรมแหกปากตะโกนแล้วออกวิ่งทันที ผมอมยิ้มกับความน่ารักของ “จารย์เตอร์” ก่อนจะยิ่งยิ้มกว้างขึ้นไปอีกเมื่อทีมถ่ายทอดสดตัดภาพไปที่นักเตะไทยทั้งตัวจริงตัวสำรองรวมทั้งสตาฟฟ์โค้ชวิ่งกรูกอดกันอลหม่านไปหมด
เป็นภาพแห่งสปิริตทีมที่งดงาม มันยังแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความปรารถนาร่วมกันขนาดไหนที่ต้องชนะเกมนี้ให้ได้ และประตูนั้นของเจ้านิวมีความหมายมากเพียงใด
ทีมชาติไทยยืนหนึ่งเป็นจ่าฝูงของกลุ่ม A รายการนี้ดูประตูได้เสียก่อนสถิติเฮดทูเฮด เรานำสิงคโปร์อยู่ 3 แต้มโดยที่ผลต่างประตูดีกว่าอยู่ 11 ลูก ถ้าไม่ล็อกถล่มแพ้กัมพูชาขณะที่สิงคโปร์บอมบ์มาเลเซียด้วยสกอร์หักลบกันเกิน 11 ประตู เราจะจบรอบแรกวันศุกร์นี้ด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม
ผลพลอยได้ของการเป็นแชมป์กลุ่ม A ก็คือ เกมในรอบรองชนะเลิศและนัดชิงชนะเลิศ (ถ้าไปถึง) ซึ่งจะเตะกันแบบเหย้า-เยือน เราจะได้เล่นเกมที่ 2 ในบ้านตัวเองทั้ง 2 รอบ
เป็นเรื่องดีอยู่แล้วล่ะครับที่บทสรุปของแมตช์จะเกิดขึ้นต่อหน้าพวกเราเองในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ผมหวังว่าเราจะไปได้จนสุดทาง
ในประวัติศาสตร์การแข่งขันรายการนี้นับตั้งแต่หนแรกสุดในชื่อ ไทเกอร์ คัพ เมื่อปี 1996 ไล่เรื่อยมาเป็น เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ, เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คัพ และล่าสุดในชื่อ อาเซียน มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คัพ ยังไม่เคยมีชาติไหนคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อนมาก่อน
เราเคยมีลุ้น 2 หน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ (แชมป์ 2000, 2002 ตกรอบแรก 2004 และแชมป์ 2014, 2016 ตกรอบรองฯ 2018) สิงคโปร์เองก็มีลุ้น 1 ครั้งแต่ก็ทำไม่ได้เช่นกัน
มาคราวนี้ เป็นอีกครั้งที่เรามีลุ้นคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน หลังจากพิชิตอินโดนีเซียในนัดชิงปี 2020 และชนะเวียดนามในนัดชิงปี 2022
แชมป์ 3 สมัยซ้อนและแชมป์สมัยที่ 8 ยืดสถิติเบอร์หนึ่งของรายการออกไปอีก (สิงคโปร์ 4 สมัย เวียดนาม 2 สมัย มาเลเซีย 1 สมัย) คือเป้าหมาย ส่งกำลังใจเชียร์ทีมช้างศึกชุดนี้กันต่อครับ
ตังกุย