จากกรณีรัฐบาลจะมีการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องกักในสถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กลับประเทศจีน ซึ่งภายหลังทางด้านนายมาร์โก รูบิโอ รมว.การต่างประเทศสหรัฐ รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ออกมาประณามไทยต่อการกระทำดังกล่าว ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น
-‘กัณวีร์’ เปิดจดหมาย 3 ฉบับเสียง ‘ชาวอุยกูร์’ ยืนยันไม่สมัครใจกลับจีน
แล้วชาวอุยกูร์คือใคร?
ชาวอุยกูร์ (Uyghur) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเตอร์กิก (Turkic) ที่อาศัยอยู่บริเวณเอเชียกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภูมิภาคซินเจียง (Xinjiang) หรือชื่อเต็มคือ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พวกเขานับถือศาสนาอิสลามมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ โดยอิทธิพลทางศาสนาของพวกเขาสืบย้อนไปถึงอาณาจักรคาราคานิด ซึ่งเป็นอาณาจักรเติร์กที่ปกครองเอเชียกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 13 ในศตวรรษก่อนๆ ชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอื่นๆ เช่น โซโรอัสเตอร์และพุทธศาสนา

ตามบันทึกทางการของจีน มีชาวอุยกูร์อยู่ 12 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในซินเจียง รายงานล่าสุดที่เผยแพร่ในสำนักข่าวซินหัวอ้างคำพูดของหวาง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนที่ระบุว่าประชากรเพิ่มขึ้นจาก 5.5 ล้านคนเป็น 12 ล้านคนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

พื้นถิ่นเดิมและความขัดแย้ง
พื้นถิ่นเดิมของชาวอุยกูร์อยู่ในภูมิภาคซินเจียง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในสมัยโบราณ อย่างเช่นเส้นทางสายไหม (Silk Road) ความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่ซินเจียงเกิดขึ้นมานานแล้ว เนื่องจากความพยายามของรัฐบาลจีนในการควบคุมพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอุยกูร์ และนโยบายที่กระทบต่อศาสนาและวัฒนธรรมของพวกเขา

โดยในช่วงปลายฤดูร้อนของปี 2561 องค์การสหประชาชาติได้เปิดเผยว่าชาวอุยกูร์อย่างน้อยหนึ่งล้านคนถูกควบคุมตัวไว้ใน “ศูนย์ต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง” ในมณฑลซินเจียงของจีน ส่งผลให้การปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่ครั้งหนึ่งเคยไม่เป็นที่รู้จักกลายเป็นที่สนใจมากขึ้น นอกจากนี้ ในรายงานยังเปิดเผยอีกว่า ชาวอุยกูร์อีก 2 ล้านคนถูก “บังคับให้เข้าอยู่ในค่ายอบรมสั่งสอนใหม่” เพื่อปลูกฝังทางการเมืองและวัฒนธรรม ในขณะที่รายงานอื่นๆ ระบุตัวเลขไว้ที่หนึ่งล้านคน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการปราบปรามชาวอุยกูร์อย่างรุนแรง ซึ่งชาติตะวันตก รวมทั้งสหรัฐ และอังกฤษ เรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และในปี 2022 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การปฏิบัติของรัฐบาลปักกิ่งต่อชนกลุ่มน้อยในซินเจียงอาจถือเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ซึ่งทางจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่านโยบายต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันตกสุดของจีนนั้นมีความจำเป็นต่อการ “ต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรง” และเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจไปสู่ระดับบนสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยากจน
และจากมาตรการดังกล่าวของทางการจีน ส่งผลให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวอุยกูร์บางกลุ่มถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานเนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปราบปรามทางศาสนา ชาวอุยกูร์บางส่วนจึงได้หลบหนีไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย

ชาวอุยกูร์ในไทย
ชาวอุยกูร์เริ่มปรากฏในประเทศไทยเป็นจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเขาหนีภัยความรุนแรงในซินเจียง ปัญหาทางศาสนา และความไม่มั่นคงทางการเมือง โดยหลายคนพยายามใช้ไทยเป็นเส้นทางผ่านเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม เช่น ตุรกี ที่มีเชื้อสายเตอร์กิกร่วมกัน ในขณะที่ล่าสุดขณะนี้ หน่วยงานระหว่างประเทศได้ออกมาประณามการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน โดยมองว่าเป็นการกระทำผิดข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และอาจจะก่อให้เกิดการก่อการร้ายในประเทศไทยตามมาได้อีกด้วย..
-สหรัฐเตือนระวังก่อการร้าย กรณีไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลุ่มใหญ่กลับจีน
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @AFP, @aljazeera, @UyghurProject