นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์กลุ่มงานศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ กล่าวถึงโรคเกาต์ว่า เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยและมักเจอในคนอายุ 30-40 ปี ขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 9 เท่า อาการของโรคเกาต์คือ มักมีอาการปวดทีละข้อ ซึ่งตำแหน่งที่ปวดและพบได้บ่อย คือ ข้อนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า โดยสาเหตุของโรคเกาต์ เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในข้อต่อและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดอาการได้ดังต่อไปนี้
1.ปวดข้อรุนแรง โดยเฉพาะที่ข้อนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อมือ
2.มีลักษณะบวม แดง และรู้สึกร้อนบริเวณข้อต่อที่อักเสบ
3.ในคนไข้บางรายที่มีอาการเรื้อรัง อาจมีการก่อตัวของก้อนโทฟัส (Tophus) หรือก้อนใต้ผิวหนังที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายข้อต่อและเส้นเอ็นได้
4.เกิดความเสี่ยงของอาการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากก้อนโทฟัสที่แตก โดยสามารถสังเกตเห็นเป็นผงสีขาวนวลคล้ายชอล์ก
5.หากมีอาการปวดเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม/ต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดนิ่วในไต และทำให้เกิดอาการไตวายได้ในอนาคต
สาเหตุของโรคเก๊าท์..ซึ่งโรคเก๊าท์เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ซึ่งสาเหตุของกรดยูริกในเลือดสูงอาจเกิดจาก
1.การสร้างกรดยูริกมากเกินไป เช่น เป็นจากพันธุกรรม , โรคอ้วน , โรคไตบางชนิด
2.ไตขับกรดยูริกออกได้น้อยลง
3.การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด อาหารทะเล กะปิ ปลาซาร์ดีน หอย เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน หน่อไม้ เห็ด ยอดผักอ่อน พืชตระกูลแตงทุกชนิด ซึ่งสารพิวรีนที่มีอยู่ในกลุ่มอาหารข้างต้น เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการเผาผลาญเป็นกรดยูริก หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดกรดยูริกปริมาณมากคั่งในข้อต่อ เป็นสาเหตุของโรคเก๊าท์ในเวลาต่อมา
4.การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแอสไพริน
5.อาการเจ็บป่วยที่มีการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้นผิดปกติ เช่น มะเร็งเม็ดเลือด โรคสะเก็ดเงิน
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเก๊าท์ได้จาก
1.การตรวจระดับกรดยูริกในเลือด
2.การตรวจของเหลวในข้อต่อ เพื่อหาผลึกกรดยูริก
3.การตรวจเอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวนด์ข้อต่อ เพื่อประเมินการสึกกร่อนของข้อจากโรคเก๊าท์
แนวทางการรักษาประกอบด้วย
1.พักการใช้งานข้อ ควรยกข้อสูงเพื่อไม่ให้เกิดอาการบวม ประคบเย็นบรรเทาอาการปวด
2.ทานยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs, โคลชิซีน (Colchicine)
3.ทานยาควบคุมระดับกรดยูริก เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol), เฟบูโซสเตท (Febuxostat) ในการทานยาควบคุมระดับกรดยูริกนี้จะเริ่มยาหลังจากผ่านพ้นระยะข้ออักเสบเฉียบพลันไปแล้ว
4.ในกรณีของคนไข้บางราย อาจใช้ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต อาทิ เช่น ซัลฟินไพราโซน ( Sulfinpyrazone), โปรเบ็นนีซิด ( Probenecid )
5.การปรับพฤติกรรมในการบริโภคเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การงดทานอาหารที่มี สารพิวรีนสูง
6.รักษาโรคร่วม และตรวจประเมินอย่างต่อเนื่อง
7.ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยไตในการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
อาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
1.ผลไม้ ผัก และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
2.โปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง
3.ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
การดูแลโรคเกาต์ต้องอาศัยการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดและตรวจติดตามอาการเพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในระยะยาว โรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องอาศัยการเอาใจใส่ต่อการรักษาของผู้ป่วยเอง การดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค การใช้ชีวิตประจำวัน และหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสหายขาดจะเร็วขึ้น ยิ่งปล่อยนาน ยิ่งยากต่อการรักษา