อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุดว่า “เตือน! ผู้สูบกัญชาระวัง อาการประหลาด 2 ประการ” ย้ำชัด แม้ว่ากัญชามักถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่การใช้ในระยะยาวกลับก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงนี้ได้
โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า ผู้ใช้กัญชาเรื้อรังเสียชีวิต หลังจากอาเจียนอย่างรุนแรงติดต่อกันหลายวัน และปวดท้อง ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งนำไปสู่ภาวะสมองตาย โดยหญิงวัย 22 ปี ที่ได้รับการรักษาในแคนาดา เริ่มใช้กัญชาเมื่ออายุ 14 ปี และมีอาการอาเจียนรุนแรงหลายครั้ง และปวดท้องอย่างรุนแรงซ้ำๆ กัน เป็นเวลานานกว่า 3 ปี จากการใช้กัญชา และเมื่อเธอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียนและปวดท้อง เธอเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Torsades de Pointes) ซึ่งทำให้หัวใจของเธอหยุดเต้นแม้ว่าแพทย์จะสามารถให้หัวใจของเธอกลับมาเต้นได้อีกครั้ง แต่สมองของเธอกลับสูญเสียออกซิเจนอย่างรุนแรง และเธอถูกประกาศว่าสมองตายในอีก 4 วัน
ต่อมา อาการคลื่นไส้อาเจียนจากกัญชา สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่เสพกัญชาเป็นประจำ เนื่องจากสารจากกัญชาอาจทำให้ตัวรับบางชนิดในสมองทำงานผิดปกติได้ โดยสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงรายนี้ในที่สุดแล้ว มาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งส่งผลให้เสียชีวิต และอาการแย่ลงจากระดับโพแทสเซียมที่ต่ำ อันเกิดจากการอาเจียนบ่อยและจากสารจากกัญชา ที่ส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ “Cannabinoid Hyperemesis Syndrome (CHS)” หรือ โรคอาเจียนรุนแรงจากการใช้กัญชา เป็นภาวะที่เกิดจากการใช้กัญชาเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง และปวดท้องอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ แม้ว่ากัญชามักถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่การใช้ในระยะยาวกลับก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงนี้ได้ ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน “Aliment Pharmacol Ther” ระบุว่า โรคอาเจียนรุนแรงจากการใช้กัญชา พบมากในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-24 ปี ที่มีการเสพกัญชาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โดยมีคำแนะนำ ดังนี้
1. หากคุณหรือผู้ที่คุณรู้จักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเรื้อรังและมีประวัติเสพกัญชาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
2. ลดการใช้กัญชา หรือเลิกใช้กัญชาโดยสิ้นเชิง หมายเหตุ “ข้อมูลนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์