อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุดว่า “พฤติกรรมนั่งทำงานนานเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อหัวใจจริงหรือไม่”
โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า “การศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอยู่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพหัวใจ นักวิจัยพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ที่บ่งชี้ถึงอันตรายจากการนั่งเป็นเวลานาน และตัวเลขดังกล่าวก็น่าเป็นห่วง ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารของ American College of Cardiology การนั่งนานเกิน 10.5 ชั่วโมงต่อวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจได้อย่างมาก รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว และยังเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย”
อีกทั้ง “การศึกษาดังกล่าวได้สำรวจผู้คนเกือบ 90,000 คน จาก UK Biobank ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุเฉลี่ย 62 ปี ผู้เข้าร่วมสวมอุปกรณ์ที่ข้อมือ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของตนเองตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งเผยให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนใช้เวลานั่งประมาณ 9.4 ชั่วโมงต่อวัน การวิจัยเผยให้เห็นว่าผู้ที่ใช้เวลานั่งเกินเกณฑ์ 10.6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ร้ายแรง และสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ ความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ”
นอกจากนี้ “แม้แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ในการทำกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก 150 นาทีต่อสัปดาห์ ก็ยังเผชิญกับอันตรายหากนั่งนานเกิน 10.6 ชั่วโมง การศึกษาได้ติดตามผลที่ตามมาในกลุ่มผู้เข้าร่วมเป็นเวลา 8 ปี โดยความเสี่ยงจะแตกต่างกันไปตามสภาพของหัวใจ โดยพบว่า 3,638 คน เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation) 1,854 คน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) และ 1,610 คน เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack)”
โดย “รูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหัวใจได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะกระตือรือร้นเพียงใด หรือการเคลื่อนไหวร่างกายและจัดตารางวันใหม่ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นนะครับ” หมอหมูกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอ มีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์