พระ-ชาวบ้านในตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ลุยชี้จุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี หลังวัดลำชีศรีวนาราม อีกหนึ่งความล้มเหลวของโครงการ “มหากาพย์ 7 ชั่วโคตร” กรมโยธาธิการฯจัดสรรก่อสร้างด้วยงบ 59 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 33 ล้านบาท น้ำลดงบละลายแม่น้ำ เรียกร้อง “นายกอิ๊ง” มท.1 เร่งกรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างให้แล้วเสร็จในฤดูน้ำลด หวั่นเกิดเหตุพนังแตก น้ำทะลักท่วมซ้ำสอง พร้อมขันน็อต ผวจ.กาฬสินธุ์ แก้ไข กลุ่มแรงงานก่อสร้างที่ร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากทำงานให้รับเหมาขาใหญ่แต่ไม่ได้เงินค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว ต้องเป็นหนี้ท่วมหัวเพราะรับเหมาขาใหญ่ไม่จ่ายค่าแรง
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหลังวัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หลวงพ่อมณี ศิริปุณฺโณ พระลูกวัด วัดลำชีวนาราม พร้อมด้วยนางทัศนีย์ สาระทะนง ผู้ใหญ่บ้านหนองหวาย และผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวบ้านหนองหวาย บ้านวังยาว 2 หมู่บ้าน ร่วมกันชี้จุดเสี่ยงพนังกั้นลำชีแตก และจุดก่อสร้างผู้รับเหมาทิ้งงานที่ได้ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหาย จากโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) ความยาว 385 ม. งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 59,270,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก. เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 10 ส.ค.65 เบิกจ่ายไปแล้ว 33,090,500 บาท โดยคนงานได้ขนย้ายเครื่องจักรหนีไปหมด ก่อนที่กรมโยธาฯ จะยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ชาวบ้านได้พากันเดินชี้จุดเสี่ยงภัยและจุดก่อสร้างที่ภายหลังน้ำลดจะพบเห็นความเสียหายบริเวณพื้นที่ก่อสร้างตลอดระยะทางรวมถึงความเสียหายที่มากับกระแสน้ำในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ยังไม่มีการแก้ไขจนสงสัยว่ามีความพยามในการปกปิดความผิดพลาดในครั้งนี้หรือไม่
นายสุนทร นาสินทรัพย์ อายุ 70 ปี ชาวนาบ้านหนองหวาย ซึ่งมีที่ดินทำกินอยู่ติดเขตวัดและพนังกั้นแม่น้ำชีกล่าวว่า บริเวณจุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าว ถือเป็นจุดเสี่ยงที่สุดที่จะถูกมวลน้ำกัดเซาะพนังแตก เนื่องจากเป็นโค้งคุ้งน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก มวลน้ำจะพุ่งชนหัวโค้งบริเวณหลังวัดพอดี ซึ่งก่อนที่จะมีโครงการมาลงพื้นที่สันพนังมีความหนาประมาณ 5-6 เมตร ต่อมาในปี 2561-64 เกิดภาวะน้ำชีล้นตลิ่ง ความแรงของมวลน้ำได้กัดเซาะจนพนังแตกน้ำทะลักท่วมวัด พื้นที่การเกษตรและหมู่บ้านได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างหลายพันไร่ การก่อสร้างในจุดนี้ด้วยงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังน้ำลดเห็นผู้รับเหมานำเครื่องจักร เสาเข็ม วัสดุอุปกรณ์มาก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ตนและพระเณร ชาวบ้าน ต่างดีใจ เพราะมีการปรับแต่งหน้าดินเพื่อทำสันพนังใหม่ ให้มีความกว้างมากขึ้น สูงขึ้น และมีความมั่นคงแข็งแรงโดยขุดเจาะลึกเข้ามาในเขตที่ดินตนจนสันพนังเหลือเพียง 2 เมตรเท่านั้น และทำการฝังเสาเข็มได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะหยุดทำงานไปเฉยๆ พร้อมขนย้ายเครื่องจักรออกไปหมดทิ้งให้ดูต่างหน้าเพียงกองเสาเข็มสร้างความสงสัยให้กับพระเณรและชาวบ้านเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงได้ทราบว่าผู้รับเหมาโครงการนี้ทิ้งงาน และถูกกรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญาในที่สุด
“ฤดูน้ำหลากช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.67 ที่ผ่านมา น้ำชีเพิ่มระดับสูงขึ้น ทั้งพระเณรก็ย้ายที่จำวัดไปอยู่ที่สูงเพื่อความปลอดภัย ในขณะที่ชาวบ้านวิตกกังวลกินไม่ได้นอนไม่หลับ หวาดวิตกว่าจะเกิดเหตุพนังแตกรอบสอง เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยวและกัดเซาะตัวพนังที่คอกิ่วทุกๆ วัน บางจุดรั่วซึม มีน้ำไหลลอดพนังเป็นช่วงๆ โชคดีที่ระดับน้ำในแม่น้ำชีปีนี้ไม่เอ่อขังนานและลดระดับลงอย่างรวดเร็วจึงรอดพ้นวิกฤติพนังแตกรอบสองอย่างหวุดหวิด ทั้งนี้หลังน้ำลดจากการสำรวจตามแนวพนังระยะทางยาวประมาณ 100 เมตร ขณะนี้ยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกวิตกกังวลหวาดผวาเนื่องจากเห็นร่องรอยตัวพนังถูกกระแสน้ำกัดเซาะหลายจุดตลอดแนวพนัง ที่ผู้รับเหมามาปรับหน้าดินไว้ก่อนทิ้งงานจึงต้องการความชัดเจนว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์จะแก้ไขปัญหาอย่างไรในปัญหานี้” นายสุนทร กล่าว
ด้านนายบุญทัน น้อมระวี อายุ 67 ปี ชาวบ้านวังยาง ต.ลำชี กล่าวว่า ตนเองก็ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชีจุดนี้เริ่มจากได้รับการชักชวนจากผู้รับเหมาให้เข้ามาเป็นรถร่วมรับจ้างบรรทุกดิน ตั้งแต่เข้ามารับจ้างไม่เคยได้รับค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว มีแต่ถูกหลอกเรื่อยมาว่าเงินงวดงานยังไม่ออกต้องควักเงินส่วนตัวจ่ายเป็นค่าน้ำมัน ซ่อมบำรุง และค่าแรงคนงาน รวมแล้วไม่น้อยกว่าแสนบาท เดือดร้อนหนักที่สุดก็ในกลุ่มผู้รับเหมาช่วงหลายราย ต่างก็เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะต้องไปหากู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยสูงมาจ่ายค่าแรงงานคนงานตกรายละหลายล้านบาท
นายบุญทัน กล่าวอีกว่า เมื่อผู้รับเหมาขาใหญ่ทิ้งงาน ผลกระทบที่เกิดจากผู้รับจ้างก็ไม่ต่างกับฝันสลาย เกิดความเสียหายไปทั้งระบบ กระทบหนักกับผู้รับเหมาช่วงและแรงงาน ที่เคยหวังจะได้เงินค่าจ้างไปหล่อเลี้ยงกิจการเลี้ยงดูครอบครัวก็มีอันต้องผิดหวัง เจ๊งไปตามๆ กันเนื่องจากผู้รับเหมาขาใหญ่ไม่จ่ายค่าแรง ทั้งๆ ที่เบิกเงินแอดวานซ์และเงินงวดงานไปแล้ว ดังนั้นจึงขอความเป็นธรรมกับ “นายกอิ๊งค์” นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงผู้รับเหมาขาใหญ่เยียวยาผู้รับเหมาช่วงและแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งรีบเร่งจัดหาผู้รับเหมารายใหม่ มาก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งให้แล้วเสร็จด้วย หากปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ถึงฤดูน้ำหลากปีหน้าพนังที่คอกิ่วกว่า 100 เมตร ซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยน้ำกัดเซาะอาจจะแตกเป็นครั้งที่สองมวลน้ำทะลักเข้าท่วมวัดพื้นที่การเกษตรและหมู่บ้านได้รับความเสียหายแน่นอน
สำหรับปัญหาการก่อสร้างมีจำนวน 8 โครงการ ทุกโครงการก่อสร้างไม่เสร็จและถูกกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างแล้วทั้งหมด และมีรายงานแจ้งว่าถึงแม้ที่ผ่านมา อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่ติดตามปัญหาและเคยรับปากประชาชนกลุ่มผู้รับจ้างที่ไม่ได้รับเงินจากค่าจ้างแรงงานโดยได้มอบให้ นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ ทำหน้าที่ติดตามไกล่เกลี่ยเพื่อพี่น้องประชาชน แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาเยี่ยวยาให้กับชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด จึงทำให้ความเดือดร้อนที่เป็นหนี้เป็นสินจากการก่อสร้างไม่ได้รับการเยียวยา รวมถึงปัญหาการทิ้งงานก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการทางพัสดุหรือดำเนินการทางคดีแพ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหาต่อภาครัฐอย่างไร