เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กรรมาธิการกฎหมายและยุติธรรมวุฒิสภาๆ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบเกาะทุเรียน ตั้งอยู่ภายในเขื่อนสะพานหิน หรืออ่างเก็บน้ำคีรีธาร ในพื้นที่ หมู่ 3 ตำบลบ่อเวฬ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ก่อนที่จะเดินทางลงไปยังบริเวณพื้นที่ที่เป็นข่าวกระแสดัง ได้แวะพูดคุยกับชาวบ้านที่บริเวณ อาคารของโรงเรียนบ้านโชคดี ซึ่งมีชาวบ้านมารอต้อนรับเพื่อฟังความแน่ชัดเรื่องแนวเขตพื้นที่ร่วม 100 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เข้ามาร่วมรับฟังกันครบถ้วน

เบื้องต้นได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า ใครที่เคยทำกินอยู่ตรงไหนก็ให้อยู่ตรงนั้น อย่าไปบุกรุกเพิ่มเป็นอันขาด ขอให้ประชาชนอย่าตระหนก รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อความแนบชิดเสียก่อน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการขับไล่อย่างแน่นอน ยืนยันว่าจะดำเนินการผู้ที่เป็นนายทุนจากต่างพื้นที่เท่านั้น

หลังจากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่เข้าไปภายในเกาะทุเรียน หรือชาวบ้านเรียกว่าเกาะ 100 ไร่ พบว่า พื้นที่บริเวณนี้ยังไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ มีการทำเกษตรกรรมแบ่งออกหลายแปลง มีผู้ครอบครองกว่า 30 คน พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่ทับซ้อน เรื่องของการออกเอกสาร โดยมีหน่วยที่รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรมป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดิน และกรมพลังงาน โดยหลังจากนี้จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมประชุมหารือที่รัฐสภา เพื่อหาทางออกเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

ส่วนปัญหาในเรื่องการปลูกทุเรียนหรือทำเกษตรกรรมแล้วอาจมีสารเคมีตกค้างหรืออาจไหลลงไปในอ่างเก็บน้ำนั้น จะได้แจ้งให้เกษตรกรระมัดระวังการใช้มากขึ้น และจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการตรวจสอบน้ำ ทั้งในบริเวณอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ และปลายทางที่น้ำไหลไป เนื่องจากน้ำใสนี้หล่อเลี้ยงคนเกือบทั้งจังหวัด ทั้งการนำไปผลิตเป็นประปา และอุปโภคบริโภค ลงไปทางอำเภอขลุงไหลผ่านไปยังจังหวัดตราดด้วย ส่วนเรื่องการใช้เครื่องมือพิเศษหรือแอปพลิเคชั่นพิทักษ์ภัย ของกรมป่าไม้ ตนเองได้เปิดดูปรากฏว่ายังใช้ได้

แต่ในเรื่องของการเตือนหรือการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ “ผ่านดาวเทียมของจิดด้านั้น” จะต้องตรวจสอบเช็คอีกครั้งนึงว่าระบบการตรวจสอบภาพถ่ายยังคงใช้การได้หรือไม่ เนื่องจากการทำงานของดาวเทียมจะมีการถ่ายภาพทุก 10 วันแล้ววนมาถ่ายใหม่อีกครั้ง หลังจากถ่ายภาพเสร็จจะประมวลผลด้วยระบบดาวเทียม และด้วยระบบของทางเจ้าหน้าที่จึงจะส่งผลมายังระบบที่เจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ สำหรับแอปพลิเคชั่นพิทักษ์ภัย สำคัญมากหากเป็นไปได้จะต้องกลับไปทบทวนและตรวจสอบเพื่อนำกลับมาใช้ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ใช้ยาแรงถ้าหากพบกันกระทำผิดก็มีการจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

ทางด้าน นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ตนเองได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยดูแลป่าอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีสื่อตีข่าวว่าพื้นที่อำเภอมะขามมีการบุกรุกป่าถึง 2,000 ไร่นั้น เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันว่ามีการบุกรุกเพียง 28 ไร่เท่านั้น และมีการจับกุมดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่อำเภอแก่งหางแมวที่มีการตรวจพบว่ามีการบุกรุกถึง 2,000 ไร่ จากการตรวจสอบแล้วพื้นที่แก่งหางแมวเองอยู่ในเขตป่าทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจกันใหม่เนื่องจากมีการทำเกษตรกรรมมาก่อนแล้ว ส่วนทุนจีนนั้นทางจังหวัดก็จับตาดูอยู่ ถ้าหากเจอหรือพบก็จะดำเนินการทันที หรือท่านใดมีข้อมูลก็สามารถแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ สำหรับป่าที่มีการบุกรุกในพื้นที่ ต้องให้ช่วยกันดูแลตัวเอง เพราะมีบางหน่วยหรือบางที่อาจมีช่องโหว่ในการทุจริต

ด้าน นายกรรชัย มีกระโดน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.บ่อเวฬุ บอกว่า วันนี้ชาวบ้านเดินทางมาร่วมรับฟัง และอยากเห็นความชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมพลังงาน / ป่าไม้ / รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ จ.จันทบุรี ที่จะให้ความชัดเจนกับชาวบ้านในสิทธิ์ทำกิน ซึ่งชาวบ้านทำกันมานานและยืนยันว่า ทุนจีนนั้นเป็นคำที่รุนแรงและกล่าวอ้าง สำหรับคนทำสวนในพื้นที่ดินที่รัฐมอบให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนตกเป็นจำเลยสังคมทุกวันนี้ อยากได้สื่อที่เป็นกลางมาฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ไม่บิดเบือนข้อมูลความจริง