จากกรณี ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 28/2567 เห็นชอบการเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) จำนวน 3 รูป ดังนี้ 1.พระเทพวัชรภรณ์ (เฉลิม วีรธมฺโม) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดประชาบำรุง จ.มหาสารคาม สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) 2.พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน จ.กาฬสินธุ์ สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) 3.พระญาณวิลาส (สงวน ปเทสโก) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดป่าทรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และแต่งตั้งพระสังฆาธิการในตำแหน่งสำคัญ นั้น

มส.เห็นชอบแต่งตั้ง ‘หลวงปู่ศิลา’ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ธรรมยุต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 ในพระเกจิดัง ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) นั้น มี พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน จ.กาฬสินธุ์ หรือที่รู้จักกันดีว่า คือ หลวงปู่ศิลา รวมอยู่ด้วย วันนี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักพระเกจิชื่อดังอย่างหลวงปู่ศิลา กัน

ประวัติ ‘หลวงปู่ศิลา’

พระราชวัชรธรรมโสภณ หรือ หลวงปู่ศิลา เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2488 ปัจจุบันอายุ 79 ปี มีนามเดิมว่า ศิลา นิลจันทร์ ชื่อเล่น บิน ภายหลังเรียกกัน หิน เพื่อมาสอดคล้องกับชื่อจริง คือ ศิลา เกิดที่บ้านเบิด ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ในช่วงนั้น ครอบครัวอพยพจากภาวะทุพภิกขภัยมาพำนักที่บ้านส้อง ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จากนั้น ในปี 2494 เมื่ออายุได้ 6 ปี ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่อาศัย ณ บ้านเกิดของมารดา ที่บ้านธาตุประทับ ในปัจจุบัน คือ บ้านยางกระธาตุ อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

เส้นทางสู่ร่มกาสาวพัสตร์

พระราชวัชรธรรมโสภณ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2500 ขณะอายุ 12 ปี ที่วัดธาตุประทับ บ้านธาตุประทับ อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด มีหลวงพ่อพิมพ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ติดตามพระอาจารย์ออกร่วมคณะธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุพนม ระหว่างเดินธุดงค์ มีโอกาสอุปัฏฐากพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี คือ พระครูสีลขันธ์สังวรณ์ (อ่อนสี สุเมโธ) ที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้รับคำสอนผญาธรรม หรือ คำสอนอีสาน จากพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กันโตภาโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม

อุปสมบทครั้งแรก ในปี 2509 เมื่ออายุย่าง 21 ปี ที่วัดบูรพาภิราม อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระสิริวุฒิเมธี (พุทธา สิริวุฑฺโฒ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า “สิริจนฺโท” และได้ลาสิกขาเมื่อปี 2521 เนื่องจากจากญาติให้ลาสิกขาออกมาเป็นครูผู้ช่วยสอน ที่โรงเรียนธาตุประทับ และดูแลมารดารวมถึงญาติผู้ใหญ่ป่วยหนักเป็นเวลา 1 ปี

ต่อมา ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2522 อุปสมบทครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 34 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดมาลุวาคณาราม บ้านเกษมสุข ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด มีพระสมุห์เป ปุญฺโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระน้อย สีลวณฺโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดสมาน ธมฺมรกฺขิโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “สุริยจิตฺโต” หลังอุปสมบทช่วงปี 2522–2539 ย้ายไปพำนักที่วัดโนนเดื่อ ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด สลับกับวัดธาตุประทับ และได้ลาสิกขาครั้งที่ 2 เมื่อปี 2539 จากเหตุผลทางครอบครัว เมื่อหมดภาระหน้าที่ในครอบครัว กับการลาสิกขาออกมาอยู่ 8 เดือน ก็กลับเข้าอุปสมบทใหม่ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2539 อุปสมบท ครั้งที่ 3 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดแสงประทีป ตำบลหมูม้น อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระครูวิธานสมณกิจ (อำนวย จนฺทสาโร) เจ้าอาวาสวัดแสงประทีป และเจ้าคณะตำบลหมูม้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า “สิริจนฺโท” และได้พำนัก ที่วัดธาตุประทับ สลับกับการออกจาริกธุดงค์ ที่บ้านพรานเหมือน ตำบลบ้านขาว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

ในปี 2565 มีการญัตติ ทัฬหีกรรมนับอายุกาลพรรษาต่อเนื่อง เป็นพระภิกษุสังกัดธรรมยุติกนิกาย ที่วัดบึงพระลานชัย โดยมีพระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษา

พระราชวัชรธรรมโสภณเริ่มเรียนนักธรรม ในปี พ.ศ. 2500 ขณะอายุ 12 ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้ตรี ที่สำนักศาสนศึกษาวัดธาตุประทับ จังหวัดร้อยเอ็ด และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501–2503 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทและนักธรรมชั้นเอก และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506–2515 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 6 ประโยค เมื่ออายุ 26 ปี ที่สำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

เรื่องเกี่ยวกับ ‘หลวงปู่ศิลา’

เมื่อแตกฉานด้านปริยัติแล้ว หลวงปู่พระมหาศิลาได้จาริกแสวงบุญปลีกวิเวกไปหลายจังหวัด เช่น จ.อุดรธานี จ.หนองคาย จ.ชัยภูมิ ได้เดินธุดงค์ป่า ณ ภูเขา อ.สังคม จ.หนองคาย สู่ภูเขาควาย สปป.ลาว ในปี พ.ศ.2517 เดินทางไปกับหลวงพ่อบ้านชาติ วัดบ้านชาติ จ.ร้อยเอ็ด (มรณภาพแล้ว) ได้พบกับครูบาอาจารย์มากมาย เช่น หลวงปู่ทองมาถาวโร พระเกจิผู้เรืองวิทยาคมของร้อยเอ็ด, หลวงปู่มหาบุญมีสิรินธโร, หลวงปู่ลีกุสลธโร และเป็นสหธรรมมิกกับครูบาอาจารย์หลายรูป เช่น หลวงพ่อสมานธัมรักขิตโต, หลวงปู่หนูอินทวัณโณ, หลวงปู่สมสิทธิ์รักขิสีโล, หลวงปู่ล้อมสีลสังวโร

หลวงปู่พระมหาศิลา ได้ร่ำเรียนวิปัสนาและเรียนอักษรธรรมลาว อ่านหนังสือจากใบลานอีสานได้อย่างแตกฉาน และได้ศึกษาคัมภีร์ใบลานสายสมเด็จลุนจากสปป.ลาว หลายฉบับศึกษาจนแตกฉาน

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา หลวงปู่พระมหาศิลาได้ปลีกวิเวกหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นป่าช้าร้างหลายแห่ง จนหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสะอาดซึ่งเคารพนับถือท่านมากได้กราบนิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัด โดยหลวงปู่ประสงค์จะปลีกวิเวก ณ สวนสงฆ์บ้านแกเปะ เหล่าศิษยานุศิษย์จึงร่วมกันสร้างกุฏิถวายหลวงปู่ศิลาได้จำพรรษาตลอดมา พระธรรมรัตนดิลก เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม ได้มีความเลื่อมใสในองค์หลวงปู่ได้นิมนต์ท่านขึ้นไปร่วมงานพุทธาภิเษกพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ และหลายวัดในภาคอีสานจะกราบอาราธนาหลวงปู่ไปร่วมปรกแทบทุกงาน เนื่องจากเหล่าศิษยานุศิษย์ได้ประจักษ์แก่สายตาเรื่องพุทธาคมวัตรปฏิบัติ ความเมตตา ความสันโดษ และเรื่องญาณหยั่งรู้ที่ท่านสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างน่าอัศจรรย์

นอกจากนี้ หลวงปู่ศิลา ยังเชี่ยวชาญในพุทธาคมในด้านขับไล่สิ่งอัปมงคล ผีสางต่างๆ จนชาวบ้านเรียกท่าน หลวงปู่หินผีย่าน (ผีกลัว) เคยขุดหลุมอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองดู่ จนชาวบ้านเรียก หลวงปู่หลุม โดยวัตถุมงคลที่โด่งดังมากสุด คือ ตะกรุดห้อยคอสุนัข มีฤทธิ์คงกระพัน ยิงไม่ถูกสุนัขบ้าง ปืนขัดลำกล้องบ้าง.

ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่ง วิกิพีเดีย