นับว่าเป็นคดีที่สะเทือนวงการแพทย์ไทยทีเดียว เมื่อนายแพทย์บุญ วนาสิน พร้อมครอบครัว ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงประชาชนผ่านโครงการลงทุน ในรูปแบบทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ดอกเบี้ยกับผู้เสียหาย และได้จ่ายเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ พร้อมทั้งเช็คเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า เหตุการณ์นี้สร้างคำถามต่อชื่อเสียงของบุคคลในแวดวงการแพทย์และธุรกิจด้านสุขภาพอย่างรุนแรง
หากจำกันได้นายแพทย์บุญ วนาสิน โด่งดังมากในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซี่งก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด นายแพทย์บุญยังไม่เป็นที่รู้จักในสงคมมากนัก กระทั่งเขาได้ออกมาพูดเรื่องการนำเข้าวัคซีนโควิด เพื่อมาช่วยคนไทย แต่ในที่สุดเรื่องก็ไม่คืบหน้า
สำหรับประวัติ
นายแพทย์บุญ วนาสิน เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2481
เริ่มงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่ประเทศไทยในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จนขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนที่ในปี พ.ศ.2519 นายแพทย์บุญ วนาสิน จะร่วมกับกลุ่มแพทย์ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีที่นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกๆ ของประเทศไทย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 46 ปี
ปัจจุบันโรงพยาบาลธนบุรี อยู่ในเครือข่ายบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ประกอบด้วย 3 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก มีโรงพยาบาลในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงดำเนินกิจการผ่านบริษัทในเครือ กิจกรรมร่วมค้า และโรงพยาบาลที่รับจ้างบริหาร 2. ธุรกิจบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ และ 3. ธุรกิจอื่นๆ สามารถขยายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลในประเทศ 18 แห่ง มีขนาดเตียงจดทะเบียน รวมกว่า 1,100 เตียง รองรับผู้ป่วยนอกได้มากกว่า 5,800 คนต่อวัน และมีโรงพยาบาลในประเทศเมียนมา เมืองย่างกุ้งอีก 1 แห่ง ขนาด 200 เตียง ในชื่อ Ar Yu International Hospital
หมอบุญกับบทบาทในช่วงโควิด-19
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายแพทย์บุญ วนาสิน เป็นผู้เสนอแนวคิดผ่านสื่อต่างๆ ว่า “ควรให้มีการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นด่านหน้าควรได้รับวัคซีนชนิด mRNA ก่อนเป็นกลุ่มแรก กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ และประชาชนทั่วไป แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งมีจำนวนมาก และควรจะได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด”
หมอบุญ ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA และเป็นผู้เปิดเผยความล่าช้าของรัฐบาลในการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาและไฟเซอร์ และประกาศร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เพื่อสั่งซื้อวัคซีนของไบออนเทค (BioNTech) จากประเทศเยอรมนี และโนวาแวกซ์ (Novavax) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่สำเร็จ
นอกจากนี้จากข่าวต่างๆ ที่ปรากฎในสื่อ ยังพบว่า โรงพยาบาลธนบุรี นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกๆ ที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การรักษา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม มทบ.11 จำนวน 494 เตียง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 2 จำนวน 168 เตียง และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 177 เตียง สร้าง Hospitel อีก 10 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว เหลือง และแดง รวมกันได้มากกว่า 4,000 เตียง ควบคู่กับการดึงบุคลากรวิชาชีพอื่น เช่น สจ๊วต แอร์โฮสเตส แพทย์ พยาบาล จากคลินิกความงาม ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพ เข้ามาช่วยทำงานในโรงพยาบาล และยังร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนอีกหลายแห่ง อาทิ ร่วมมือกับหอการค้าไทย ไทยพีบีเอส เปิดหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านระบบไทยร่วมใจ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นต้น
การศึกษา
นายแพทย์บุญ วนาสิน เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในหลากหลายสาขา โดยสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ Internship Medical College of Virginia, USA เมื่อปี พ.ศ.2507 ก่อนที่จะศึกษาต่อ Resident Sinai Hospital, Baltimore, USA (พ.ศ.2508) และสำเร็จการศึกษาอีกหลายแขนง ทั้ง Post graduate training Johns Hopkins University School of Medicine (พ.ศ.2510) Guest Scientist Gerontology National Institute of Health Baltimore MD (พ.ศ.2512)
จากนั้นในปี พ.ศ.2513 ศึกษาต่อด้านวิชาชีพสาขาอายุรศาสตร์และทางเดินอาหาร ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ ก่อนที่จะได้รับวุฒิบัตรเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์เพิ่มเติมอีก 2 สาขา ได้แก่ วุฒิบัตรเฉพาะอายุรศาสตร์ (พ.ศ.2514) และวุฒิบัตรเฉพาะโรคทางเดินอาหาร (พ.ศ.2516) ตามลำดับ