จากกรณี นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ลงพื้นที่สำรวจร่องรอยสัตว์ป่าบริเวณเกาะสะแกวัลย์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา มีการจับลักลอบนำวัวเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ผืนป่ามรดกโลก รวม 50 ตัว โดยชุดวิจัยฯ ได้พบร่องรอยคล้ายมูลของจระเข้ ซึ่งอาจจะเป็นมูลของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย มาปรากฏอยู่บริเวณดังกล่าว และมีเบาะแสจระเข้กัดวัวด้วยนั้น

หัวหน้าอุทยานฯแก่งกระจาน ลุยต่อค้นหาจระเข้น้ำจืด พบจุดดำปริศนา เร่งพิสูจน์ข่าวดี

เปิดภาพร่องรอยวัวโดนจระเข้น้ำจืดไทยกัด บนเกาะสะเเกวัลย์แก่งกระจาน ลุ้นเจอตัวชัดๆ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ม.ค.68 ทีมข่าวเดลินิวส์ลงพื้นที่ เปิดใจ นายมงคล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้พบว่า จากข้อมูลที่มีการทำวิจัยร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ทราบว่า ปัจจุบันพบร่องรอยจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย อยู่ใน 5 พื้นที่ เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกอบด้วย

1. พื้นที่วังข่า ใกล้กับหมู่บ้านโป่งลึก พบจระเข้ มาตั้งแต่ ปี 2554 – ปัจจุบัน จุดนี้คาดว่ามี 2 ตัว จากข้อมูลที่พบจากกล้องดักถ่าย และหลักฐานไข่จระเข้ที่พบ

2.บริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณใกล้กับโป่งสีชมพู พบจระเข้ ตั้งแต่ปี 2562 – ปัจจุบัน จุดนี้คาดว่ามี 2 ตัวเช่นกัน น่าจะเป็นตัวผู้และตัวเมีย และจุดนี้ยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่พบบริเวณนี้

3.บริเวณแม่น้ำบางกลอย มีการพบร่องรอยจระเข้ ปี 2564 มีทั้งรอยตีนและกองมูล

4.แม่น้ำแม่ประโดน บริเวณตอนบนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบร่องรอยของซากกวางริมน้ำจำนวนมาก และมีร่องรอยตีนของจระเข้

5. บริเวณเกาะสะแกวัลย์ พบร่องรอยจระเข้ล่าสุด และพื้นที่ในบริเวณเขื่อนแก่งกระจานมีชาวบ้านแจ้งมาหลายครั้ง เรื่องพบจระเข้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อปี 2562 ปีที่มีน้ำท่วมใหญ่แก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ชลประทานฯ พบจระเข้ขึ้นมาอาบแดดที่สปิลเวย์ จากนั้นปี 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขับเรือ และพบจระเข้ บริเวณใกล้วัดเกาะโสม ปี 2566 นักตกปลาชะโด พบจระเข้ไล่งับเหยื่อ บริเวณเกาะสะแกวัลย์ กระทั่งล่าสุด ปี 2567 มีคนขับเรือพบจระเข้นอนที่ชายหาดเกาะสะแกวัลย์ 2 ครั้ง และนักท่องเทียวเห็นขึ้นกลางน้ำ 1 ครั้ง อีกทั้งเจ้าหน้าที่เขื่อนแก่งกระจาน พบเห็นที่บริเวณใกล้สันเขื่อน 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทั้งหมดที่มี ทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะมีจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยทั้งหมดนับ 10 ตัว โดยที่ผ่านมาจระเข้ดังกล่าวไม่เคยมีประวัติทำร้ายผู้คนมาก่อน และค่อนข้างจะระแวดระวังไพรเป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้แม้ยังไม่พบตัวที่บนเกาะสะแกวัลย์ แต่จากร่องรอยทั้งมูลและรอยตีน รวมทั้งการโจมตีเหยื่อเป็นวัวที่มีการแอบมาลอบเลี้ยงในเขตอุทยานฯ นั้น จึงเชื่อว่าเป็นฝีมือของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยแน่นอน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ จากมูลที่ส่งตรวจ โดยการส่งตรวจวิจัย จะสามารถคะเนได้ว่า จระเข้ตัวนี้มีขนาดความยาวประมาณเท่าไร เพื่อทำการวางแผนการอนุรักษ์ต่อไป.