ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขดำที่ 2120/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682/2567 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ ที่ค้างค่าปรับใบสั่ง ตามกฎหมายจราจร ระหว่าง นายอำนาจ แก้วประสงค์ ผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก ที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ที่ 2 สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ที่ 3 ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ที่ 4 นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 6 ผู้ถูกฟ้องคดี

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวว่าเกินสมควร

คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

โดยศาลพิเคราะห์ กรณีออกประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยบางช่วงบางตอน ศาลปกครองกลางวินิจฉัยระบุว่า “การเสนอกฎหมายเชื่อมโยงการชำระค่าปรับกับการชำระภาษีประจำปี โดยหากเจ้าของรถผู้ใดไม่ชำระค่าปรับ เมื่อไปชำระภาษีประจำปีจะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อพ้น 30 วัน ไม่ชำระค่าปรับและนำรถไปใช้ก็จะเป็นความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ ซึ่งหลักการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่การกระทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำสองเรื่องมาเชื่อมโยงกัน จึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ จึงพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ค. 2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ก็ยังปฏิบัติตามข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่เจ้าของรถและประชาชนผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลดังกล่าว

สรุปสุดท้าย ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก