เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย ประธานกรรมการบริษัท สิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ว่า ตนได้รับความเสียหายจากการรับฝากข้าวที่ (อคส.) ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าไว้เมื่อปี 2557 มีปัญหายืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 10 อันอาจจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของภาครัฐบางคนที่มีอำนาจในขณะนั้น พร้อมพาผู้สื่อข่าวไปดูกองข้าวในคลังสินค้าให้เช่า A1 ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.ธำมรงค์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ที่บรรจุอยู่ในกระสอบป่านและถุงจัมโบ้ กองเรียงรายอยู่ด้านหน้าโกดังความยาวเกือบ 300 เมตร สภาพกองข้าวเน่าเสียเสื่อมสภาพเห็นได้ชัดเจน
โดย นายมนต์ชัย เล่าให้ฟังอีกว่า แม้ว่าทางบริษัทฯ มีหนังสือถึง อคส.หลายฉบับ เพื่อให้มาดำเนินการขนย้ายข้าวที่เน่าเสียหายออกจากพื้นที่บริษัทก็ยังเพิกเฉย โดยเรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อปี 2557 อคส. เช่าคลังสินค้า เดือนพฤษภาคมปี 2558 มีเหตุไฟไหม้ในคลังหลัง A1 สร้างความเสียหายให้กับข้าวสารจำนวนหนึ่ง และทางเจ้าหน้าที่ อคส. พร้อมทั้งบริษัทประกันภัย ได้ร่วมกันตรวจสอบและขนย้ายข้าวออกมากองไว้ด้านนอกคลังประมาณ 6,000 ตัน ข้าวสารจำนวนที่เสียหายนั้น อคส.ได้เบิกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว 10 กว่าล้านบาทเศษ ตามหนังสือที่ประกันภัยได้ทำหนังสือแจ้งมายัง อคส.
ต่อมา ปี 2563 อคส. ประมูลขายทั้งโกดังรวมทั้งซากกองข้าวหน้าโกดังที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ ให้เอกชนรายหนึ่ง ระบุเป็นข้าวชนิดเข้าสู่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (หรือเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน, ปุ๋ย) ผู้ประมูลขนย้ายข้าวในคลังหมดแล้ว ก็ได้ขนข้าวดีบางส่วนที่กองอยู่ด้านหน้าคลัง ที่ไม่ถูกไหม้แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำดับเพลิงบางส่วน ยังเหลืออีกประมาณ 2,000 ตัน ตามบัญชี เช็กสต๊อกประจำปีขององค์การคลังสินค้า ที่ปรากฏอยู่ขณะนี้
ที่น่าแปลกใจมากคือ “อคส.” ตอนนี้ได้อนุมัติยกเลิกการซื้อขายให้กับบริษัทผู้ชนะการประมูลไปแล้ว ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบการทำงาน เพราะว่าการทำสัญญาซื้อขายข้าวสารแล้วไม่สามารถที่จะยกเลิกให้กับภาคเอกชนได้ เพราะเมื่อทำสัญญาซื้อขายแล้วก็ต้องขนสินค้าออกไปให้หมด ยิ่งเป็นกรณีที่ซื้อขายในรูปแบบของอุตสาหกรรมพลังงานด้วยแล้ว ไม่มีทางใดที่จะยกเลิกได้เลย เพราะการประมูลซื้อเป็นชนิดใช้ทำพลังงาน จะถูกว่าทุกชนิด ที่รัฐได้นำมาประมูลขายออก คือชนิดที่ประมูลเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน (ห้ามนำไปให้คนและสัตว์บริโภค) จะเอาไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ย ผลิตเป็นเอทานอล หรือนำไปเผาเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจะไม่มีเหตุผลใดที่ยกเลิกให้กับผู้ประมูลได้ทุกกรณี
ทางบริษัทฯ ได้ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบ กรณีการยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวให้กับภาคเอกชนในครั้งนี้ ด้วยว่าผู้บริหารท่านใดเป็นผู้ลงนามในขณะนั้น ส่วนประเด็นที่สอง ที่เกิดความเสียหายในช่วงเวลานั้นกับผู้บริหารคนเดียวกัน ขณะนั้นบริษัทได้ทำหนังสือแจ้งขอให้ขนย้ายข้าวออกจากนอกคลังสินค้า ซึ่งกีดขวาง บริษัทขาดประโยชน์ในการใช้พื้นที่ และกองข้าวเน่ายังทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์ แต่ทำไมผู้บริหารคนดังกล่าวกลับทำหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่ใช่ข้าวขององค์การคลังสินค้า ข้าวอันนี้เป็นข้าวของบริษัท ที่บริษัทส่งคืนกรณีข้าวสารที่เหลือจากการบรรจุถุง คืนเข้าคลังแล้วเกิดเสื่อม กรณีรับคืนข้าวสารบรรจุถุงคืนเข้าคลังกลางนั้น จะมีบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ และหัวหน้าคลัง ของ อคส. เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพข้าว จำนวนและปริมาณข้าวทั้งหมด ซึ่งคลังหลัง A1 นี้เป็นคลังสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิถือกุญแจประตูคลัง และไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหลังจากเซอร์เวย์เยอร์และหัวหน้าคลัง ได้รับมอบแล้ว
ต่อมา บริษัทฯ มีหนังสือถามไปอีกครั้ง ถ้าไม่ใช่ข้าวขององค์การคลังสินค้า ก็ขอให้ อคส. ตอบหนังสือยืนยันมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ อคส.ตอบกลับมาใหม่ว่า ขอตรวจสอบอีกครั้ง จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบว่าจะมาขนย้ายเมื่อไหร่ แต่ในขณะระหว่าง 9 ปีเศษนั้น อคส. จะมีการเช็กสต๊อกสินค้าคงเหลือประจำปี ปีละ 2 ครั้งในรอบเดือนเมษายน หนึ่งครั้ง และในรอบเดือนตุลาคม อีกหนึ่งครั้ง ถ้าไม่ใช่ข้าวของ อคส. แล้วทำไมจึงต้องมาตรวจสอบสต๊อกคงเหลือถึงปีละสองครั้ง ตามหนังสือการตรวจสอบสต๊อกคงเหลือ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ อคส.มาตรวจสอบสต๊อกคงเหลือตามบันทึกตรวจนับได้ประมาณ 20,000 กระสอบ มูลค่าความเสียหายก็ไม่ต่ำกว่า 30 กว่าล้านบาท อันนี้เป็นความเสียหายของภาครัฐ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บริหาร อคส. ณ ขณะนั้น
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายจึงขอวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาตรวจสอบความเสียหายซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวด้วย กรณีทั้งหมดนี้ส่งผลต่อบริษัทขาดประโยชน์ในการใช้สอยพื้นที่ และยังเสียภาพลักษณ์ของบริษัทอึกด้วย เนื่องจากคู่ค้าจากต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงาน เห็นข้าวที่กองเน่าเสียหายอย่างนี้ ทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์อย่างยิ่ง
อันนี้เราได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว ปัจจุบันบริษัทสิงห์โตทองฯ ได้ยื่นฟ้ององค์การคลังสินค้าต่อศาลปกครองกลาง จำนวน 8 คดีด้วยกัน มูลค่าความเสียหายจำนวน 1,030 ล้านบาทเศษ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย ทำหนังสือร้องถึง ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกำแพงเพชรไปแล้วสองครั้ง เพื่อขอให้ลงพื้นที่มาตรวจสอบความเสียหายในที่เกิดเหตุด้วยเรื่องก็เงียบ จึงได้ส่งหนังสือยื่นถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ดังกล่าว.