เมื่อวันที่ 19 ม.ค.68 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ว่า จากการตรวจสอบภาพที่บันทึกได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ที่ติดตั้งสังเกตพฤติกรรมสัตว์ป่าเพื่องานวิจัยทั้งบริเวณ กม.3 ถนนจากด่านสามยอดไปบ้านกร่าง บริเวณห้วยคมกฤต และบริเวณบ้านกร่าง ทำให้พบว่าสามารถบันทึกภาพของหมาในได้ฝูงหนึ่งขณะออกล่ากวางเป็นอาหาร แต่ที่น่ายินดีคือ ได้พบความประหลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ในฝูงนี้มีหมาใน สีขนออกไปในทางสีอ่อน หรือสีชมพู ไม่ได้มีสีน้ำตาลแดงตลอดทั้งตัวแบบปกติแต่อย่างใด

ทั้งนี้โดยปกติแล้ว หมาในในประเทศไทย จะมีสีน้ำตาลแดงตลอดทั้งตัว หางสีดำฟูเป็นพวงยาว 40-45 เซนติเมตร หลังสีเข้ม หูกลมใหญ่ ขนในหูสีขาว ปากสั้น มีกรามและฟันแข็งแรงมาก แต่ตัวที่พบในฝูงนี้ กลับพบว่ามีสีอ่อน ออกไปในทางโทนสีชมพู แต่ไม่ใช่เผือก เพราะหากว่าเผือก จะต้องมีจมูกสีจางและนัยน์ตาสีแดง จึงได้ทำการศึกษาวิจัยโดยติดตั้งกล้องเพิ่มเติม จนพบหมาในที่มีสีอ่อน ออกไปในทางสีชมพู เพิ่มขึ้นอีก 3 ตัว ทำให้พบทั้งหมดที่ยืนยันด้วยภาพถ่ายแล้ว 4 ตัว โดยบางตัวอยู่คนละฝูงกันด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลก

นายมงคล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยต่อว่า เมื่อได้ภาพดังกล่าวจึงได้ร่วมกับนักวิจัยหาข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากสงสัยว่าหมาในที่ถ่ายได้อาจเป็นโรคผิวหนังหรือไม่ แต่ก็ไม่พบมีความผิดปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสัตว์ชนิดนี้จะมียีนหรือเม็ดสีอยู่แล้ว อาจมีความเป็นไปได้ที่เม็ดสีอาจทำให้ผิวหนังเป็นอีกสีหนึ่ง หรือออกสีเผือก หรือขนออกสีไม่ชัด ไม่เข้มเท่าสีปกติ

นอกจากนี้เรายังไปเจอตัวที่มีลักษณะเช่นนี้ที่ไม่ได้อยู่ในฝูงเดียวกัน มันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวที่แปลก ที่ยีนหรือเม็ดสีอาจจะเพี้ยนจากเดิม ฉะนั้นหมาในในผืนป่าตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณแก่งกระจาน น่าจะเป็นตัวพิเศษ ส่วนที่สงสัยกันว่า เป็นไปได้ไหมที่เกิดจากเลือดชิด เราก็วิเคราะห์แต่พบว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน มีอาณาเขตกว้างขวาง ติดต่อกับป่ารอยต่ออื่นมากมาย จึงไม่มีโอกาสเกิดเรื่องเลือดชิดแน่นอน แต่เราก็จะต้องทำการวิจัยและศึกษาต่อไป.

ขอบคุณภาพ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน