เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีฝุ่น PM 2.5 ว่าทำไมมาตรการแก้ฝุ่น ไม่สอดคล้องกับพยากรณ์ล่วงหน้า พร้อมระบุข้อว่า “ผมไม่มีความคิดเห็นต่อวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่ออกมาเพราะมี 2 มุมมอง แต่ที่สงสัยคือช่วงเวลาที่ทำ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราพอทำนายสถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าอย่างน้อยก็ 3 วัน โดยดูจากสภาพอากาศ”

อีกทั้ง “ผมจึงสงสัยว่าทำไมมาตรการต่างๆ ที่ทำในกรุงเทพและจังหวัดรอบๆ บางอย่างก็ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของฝุ่น ที่พอคาดเดาได้ด้วยเทคโนโลยีและหลักวิชาการ เราโดนฝุ่นหนักๆ กันมาตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อน แต่ไม่มีมาตรการใดชัดเจน มาถึงวันเสาร์เราขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ต่อเนื่องไปอีกทั้งสัปดาห์ ถึงวันที่ 31 มกราคม”
นอกจากนี้ “ยังพอทราบว่าโรงเรียนบางแห่งปิด ให้เรียนออนไลน์ในสัปดาห์หน้า รวมถึงมหาลัยบางแห่งที่ให้อาจารย์เลือก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงเป็นออนไลน์ (เน้นย้ำ-บางแห่ง) แต่ดูจากโมเดลพยากรณ์ต่างๆ สถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลายในวันจันทร์ และต่อเนื่องถึงอังคารและพุธ ที่อาจมีฝุ่นกลับมาบ้าง แต่ก็ไม่แรงเหมือนสัปดาห์ก่อน หลังจากนั้นยังทำนายไม่ได้ หมายถึงบอกไม่ได้”
“ที่สงสัยคือช่วงฝุ่นแรงๆ ที่พอรู้ล่วงหน้า เราไม่ทำอะไร พอฝุ่นเริ่มหายไป เรากลับทำนี่นั่นตามกระแส กระแสจะเกิดเมื่อมีฝุ่นหนัก เพราะคนมองเห็นด้วยตา แต่อากาศที่เอื้อต่อฝุ่นจะอยู่เพียงไม่กี่วัน หากเรารอให้ฝุ่นเยอะจนเกิดกระแส จากนั้นค่อยทำ เวลามันจะเหลื่อมกันแบบนี้เสมอ เอาเป็นว่าในวันจันทร์ หากเป็นไปตามพยากรณ์ พ่อแม่อาจมึน สงสัยว่าทำไมลูกถึงอยู่บ้านเรียนออนไลน์ ทั้งที่ฟ้าใส ก่อนเดินมึนๆ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีโดยใช้เงินภาษีต่อไปทั้งสัปดาห์ ก็ได้แต่ตั้งคำถามไว้แบบมึนๆ เหมือนกัน ฝุ่นมาเราตกใจ ฝุ่นหายเราทำ”
อย่างไรก็ตาม “เรื่องนี้ไม่ประสงค์จะให้ร้ายใคร กรุณาใช้ถ้อยคำสุภาพและสร้างสรรค์ในการให้ความคิดเห็นนะครับ” ดร.ธรณ์ กล่าว
ขอบคุณข้อมูล : Thon Thamrongnawasawat