อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุด ว่า “มลพิษทางอากาศ PM2.5 ส่งผลต่อมารดาและทารกในครรภ์”

โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า “จากการศึกษาใหม่ที่นำโดย “Harvard TH Chan School of Public Health” พบว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ จากอนุภาคขนาดเล็ก (PM2.5) สำหรับสตรีมีครรภ์นั้น สัมพันธ์กับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ในการคลอดลูก การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งแรก ที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับสุขภาพของมารดา และทารกในครรภ์ในระดับเซลล์เดียว และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสกับ PM2.5 สำหรับสตรีมีครรภ์”

โดย “การศึกษานี้จะได้รับการตีพิมพ์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ใน Science Advances งานวิจัยก่อนหน้านี้พบความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสกับ PM2.5 กับภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพของมารดาและเด็ก เช่น ครรภ์เป็นพิษ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงเหล่านี้ในระดับเซลล์ นักวิจัยใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศ ที่รวบรวมโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อคำนวณการสัมผัสกับ PM2.5”

“โดยเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษา ผู้เข้าร่วมเป็นทั้งผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ จากนั้นนักวิจัยใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อทำความเข้าใจว่ามลพิษเปลี่ยนแปลง DNA ของเซลล์แต่ละเซลล์ของผู้เข้าร่วมได้อย่างไร ภายในเซลล์แต่ละเซลล์ นักวิจัยสามารถทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงของฮิสโตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยควบคุมการปล่อยไซโตไคน์ โปรตีนที่ช่วยควบคุมการอักเสบในร่างกาย และสามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้”

นอกจากนี้ “การศึกษาพบว่าการสัมผัสกับ PM2.5 อาจส่งผลต่อโปรไฟล์ฮิสโตนของสตรีมีครรภ์ ทำให้สมดุลปกติของยีนไซโตไคน์เสียไป และนำไปสู่การอักเสบที่เพิ่มขึ้น ในทั้งสตรีและทารกในครรภ์ ในสตรีมีครรภ์การอักเสบที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ในการตั้งครรภ์ และผลการศึกษาของเราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อปกป้องสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์”

ทั้งนี้ “ในความเห็นส่วนตัวประเทศไทย เป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่อง PM2.5 มากพอสมควร แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐประชาสัมพันธ์ และหาแนวทางปกป้อง” หมอหมู กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอ มีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง