เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 67 มีผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้โพสต์รูปภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส ซึ่งปีนี้ต้นคริสต์มาสแห่งห้วงอวกาศนี้ มาในแบบ “สีเขียว” ที่สมจริงกับการเป็นต้นคริสต์มาสสุดๆ
โดยเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุข้อความ “Merry Christmas 2024 แบบชาวดาราศาสตร์ นี่คือภาพของ “กระจุกดาวต้นคริสต์มาส” หรือ NGC 2264 หลายคนอาจจะเคยเห็นและคุ้นเคยกับภาพที่เป็นสีแดง แต่ปีนี้ต้นคริสต์มาสแห่งห้วงอวกาศนี้มาในแบบ “สีเขียว” ที่สมจริงกับการเป็นต้นคริสต์มาสสุดๆ”
อีกทั้ง “NGC 2264 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น ประกอบด้วยเนบิวลาแบบเรืองแสงขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด ที่มีดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลน้อย ไปจนถึงดาวฤกษ์มวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์ ด้วยลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวนั้นดูเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับ “ต้นคริสต์มาส” จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster มีดาวแปรแสงชื่อ S Monocerotis (15 Monocerotis) อยู่บริเวณตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส และอีกดวง ชื่อ V429 Monocerotis อยู่บริเวณตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน”
นอกจากนี้ “ภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาสสีเขียวนี้ ประกอบและตกแต่งขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลจากหลายแหล่ง ข้อมูลในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นได้มาจากกล้องโทรทรรศน์ WIYN ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เมตร ณ หอสังเกตการณ์แห่งชาติคิตต์พีค สหรัฐอเมริกา เผยให้เห็นรูปทรงต้นคริสต์มาสสีเขียวจากแก๊สที่อยู่ภายในเนบิวลา ข้อมูลอินฟราเรดจากโครงการ Two Micron All Sky Survey (2MASS) เผยให้เห็นดาวสีขาวบริเวณฉากหน้าและฉากหลัง และข้อมูลรังสีเอกซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของ NASA เผยให้เห็นไฟประดับสีขาวฟ้าจากบรรดาดาวอายุน้อย”
ขอบคุณข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และnasa