เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังอุบัติเหตุสลดรถบัสทัศนศึกษาจาก จ.บึงกาฬ เสียหลักตกถนนพลิกคว่ำชนกระแทกกับแนวภูเขา บริเวณทางลงเขาวังน้ำเขียว ถนน 304 ราชสีมา-กบินทร์บุรี ช่วงเขาวังน้ำเขียว-เขาสามโทน เขต อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 19 ราย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลายเป็นอุบัติเหตุสลดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอุบัติเหตุเกิดกับรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถทัวร์โดยสาร มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตซ้ำซาก

สุดเศร้า 18 ศพรถบัสตกเขาโทนถึงบึงกาฬแล้ว น้ำตาท่วมเตรียมฌาปนกิจ 1 มี.ค.นี้

นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล หรือ สจ.ชุณห์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยแกนนำชุมชนท้องถิ่นเขต อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมติดต่อกัน ลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางถนน 4 เลน ทางลงเขาสภาพลาดชันต่อเนื่องระยะทางยาว 4 กิโลเมตร มีป้ายแจ้งเตือนรถทุกคันต้องใช้เกียร์ต่ำเป็นระยะๆ มีการก่อสร้างปรับปรุงผิวถนนเป็นระยะๆ เช่นกัน ทำให้การจราจรค่อนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบัสโดยสารวิ่งลงเขาลาดชันแทบตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ช่วงทางลงเขาบริเวณก่อนถึงจุดที่เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์ 19 ศพล่าสุด พบว่ามีทางฉุกเฉิน 1 ช่องทาง สภาพเป็นทางเบี่ยงชิดกับแนวเขา ระยะทางประมาณ 200 เมตร มีการนำหินคลุกมาเทเป็นกองๆ ลักษณะเป็นแนวคลื่นกองหิน เพื่อรองรับแรงกระแทกหากเกิดอุบัติเหตุรถลงข้างทาง แต่พบว่ามีช่องทางเข้าทางฉุกเฉินค่อนข้างแคบ และตลอดแนวของทางฉุกเฉิน มีแนวแบริเออร์คอนกรีตกั้นตลอดแนว

สจ.ชุณห์ มีข้อเสนอถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้มีการก่อสร้างทางเบี่ยงฉุกเฉิน อย่างน้อย 4 จุด บริเวณทางลงเขาลาดชัน จุดที่เป็นทางโค้งและจุดเสี่ยง ที่สภาพพื้นผิวถนนมีความลาดชันสูง เพื่อเป็นทางฉุกเฉินหรือช่องหยุดรถฉุกเฉินสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบัสโดยสาร รวมถึงรถยนต์ทั่วไป ใช้เบี่ยงลงข้างทางขณะรถวิ่งลงเขาแล้วเสียหลัก หรือมีข้อขัดข้องฉุกเฉิน เช่น เบรกไม่อยู่ ควบคุมรถไม่ได้ ลมเบรกหมด คนขับสามารถมีทางเลือกที่จะใช้ทางเบี่ยงฉุกเฉิน เพื่อควบคุมรถไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ทางเบี่ยงนี้จะช่วยซับแรงกระแทก ช่วยหยุดรถไม่ให้เสียหลักพลิกคว่ำ

“ถนนทางลงเขาวังน้ำเขียว-กบินทร์บุรี เป็นเส้นทางอันตราย เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก หากมีทางเบี่ยงฉุกเฉินช่วงทางลงเขาลาดชันสูง ต้องสร้างอย่างน้อย 4 จุด งบประมาณก่อสร้างจุดละ 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับความสูญเสียมหาศาลที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มั่นใจว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุรุนแรงได้อย่างแน่นอน” สจ.ชุณห์ ระบุ