ฟุตบอลสมัยใหม่ ปฎิทินแข่งขันอัดแน่น และการมองข้ามอาการเจ็บของนักเตะ : PPTVHD36
อาจเป็นเรื่องสุดยอดกับการที่ได้เห็น โรดรี้ เอร์นานเดซ ของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ขึ้นรับรางวัลบัลลงดอร์ 2024 ในการประกาศรางวัลที่ปารีส และก็มีไม่กี่ครั้ง ที่ผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรับจะได้รางวัลนี้ แต่สิ่งที่ดูสวนทางกันคือ โรดรี้ มาพร้อมไม้ค้ำหลังได้รับบาดเจ็บจากผลงานที่ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังหลักของต้นสังกัด และทีมชาติ ในการคว้าแชมป์มากมาย
ฟิฟโปร-ส.ลีกนานาชาติ ขู่ฟ้องฟีฟ่า จัดโปรแกรมเตะเพิ่ม หวั่นแข้งเจ็บ
ผลจับสลากฟุตบอลสโมสรโลก 2025 แมนฯซิตี้ ร่วมสาย ยูเวนตุส-เชลซี กลุ่มเบา
“โรดรี้” ออกโรงเตือนนักเตะอาจประท้วงหยุดเล่นจากโปรแกรมที่เพิ่มขึ้น
AFP/PAUL ELLIS
โรดรี้ แม้จะคว้าบัลลงดอร์ 2024 แต่ก็เจออาการเจ็บปิดเทอมยาวไปแล้ว
ย้อนกลับไป ดาวเตะทีมชาติสเปน เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ออกมาวิจารณ์เกี่ยวกับปฎิทินการแข่งขันฟุตบอลที่มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเตือนว่าการที่บรรดาผู้เล่นไม่มีเวลาพักส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพและสุขภาพของผู้เล่น ซึ่งก่อนการรับรางวัลบัลลงดอร์ เพียง 1 เดือน โรดรี้ เกิดเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดในเกมพรีเมียร์ลีกที่พบกับอาร์เซน่อล เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2024
ชึ่งถือเป็นเรื่องปกติกับการที่นักกีฬาจะได้รับบาดเจ็บในช่วงชีวิตการเล่น แต่อาการเจ็บของ โรดรี้ ที่ต้องปิดเทอมยาวกับแมนฯ ซิตี้ ในฤดูกาลนี้ เป็นภาพที่สะท้อนถึงความสูญเสียทางกายภาพของฟุตบอลยุคใหม่ในช่วงเวลาที่ปฎิทินการแข่งขันเพิ่มขึ้น ตารางการแข่งขันที่วุ่นวายอีกทั้งต้องเผชิญกับการท้าทายทางกฎหมายและความเป็นไปได้ในการประท้วงหยุดเล่น
ปัจจุบันแข้งดังมีคิวต้องลงเตะมากกว่า 60 เกมต่อฤดูกาลทั้งกับสโมสรและทีมชาติ ผสมผสานกับฟุตบอลสมัยใหม่ที่ตลอด 90 นาที มีความเข้มข้นเต็มไปด้วยสปีดบอลรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีนักเตะบางรายที่ออกมาบอกว่า ศึกฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2025 ที่เป็นการแข่งขันแบบใหม่ที่ฟีฟ่า จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาโดยมีเพิ่มจากเดิม 7 ทีมที่แข่งขันทุกปี เป็น 32 ทีม ที่เป็นการแข่งขันทุก 4 ปี ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ทั้งนักเตะ และหลายๆ องค์กรอย่างสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ หรือ (FIFPRO) เห็นต่างจากฟีฟ่า
AFP/BRENNAN ASPLENGETTY IMAGES NORTH AMERICAGetty Images via AFP
จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่า กับถ้วยใหม่ฟุตบอลสโมสรโลก ที่จะเปลี่ยนมาแข่งทุก 4 ปี แต่มีเพิ่มเป็น 32 ทีม
จากโปรแกรมฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก นั่นหมายความว่าผู้เล่นชั้นนำจะมีทัวร์นาเมนต์ยาวนานหนึ่งเดือนนอกเหนือจากฤดูกาลลีกปกติกของในแต่ละประเทศ ประกอบกับเกมที่ถูกใส่เพิ่มใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ ยูโรป้า ลีก กับรูปแบบใหม่ ลีก เฟส ในฤดูกาลนี้ รวมถึงฟุตบอลโลกครั้งต่อไปในปี 2026 ที่เพิ่มจาก 32 ชาติเป็น 48 ชาติ ซึ่งต้องมีโปรแกรมรอบคัดเลือก ทำให้ปฏิทินฟุตบอลแน่นขนัดแบบปฎิเสธไม่ได้
จากรายงานของ FIFPRO ระบุว่าผู้เล่นจำนวนมากลงเล่น 60-70 นัดต่อฤดูกาลเป็นประจำ โดยสหภาพฯ แนะนำว่าผู้เล่นควรมีเกมที่จะลงเล่นเพียงแค่ 55 นัดเท่านั้น หากย้อนไปในฤดูกาลที่แล้ว (2023-2024) ฮูเลียน อัลวาเรซ นักเตะจากแอต.มาดริด ลงเล่นไปถึง 75 นัดให้กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้นสังกัดเดิม และทีมชาติ อาร์เจนติน่า ใน 10 รายการแข่งขัน ได้แก่ พรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, โคปาอเมริกา และโอลิมปิก 2024 ขยับไปฤดูกาลก่อนหน้า บรูโน่ แฟร์นันด์ส กองกลาง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลงเล่นไปมากถึง 70 นัด ที่เป็นการลงเล่นต่อเนื่องกันถึง 20 นัด
รายงานของ Men’s European Football Injury Index ซึ่งเป็นรายงานประจำปีของ Howden บริษัทนายหน้าประกันภัยระดับโลก พบว่ามีเล่นผู้บาดเจ็บ 4,123 รายในลีกสูงสุดของอังกฤษ สเปน เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส เมื่อฤดูกาล 2023-2024 โดยระบุว่าจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่มีการเผยแพร่ดัชนีการชี้วัดครั้งนี้ในครั้งแรกเมื่อปี 2021 ซึ่งยังมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มตัวเลขนักเตะบาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นต่อไป แม้ว่าในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬาและการแพทย์จะมีความก้าวหน้าเข้ามาช่วยก็ตาม
“ดูเหมือนว่าจะมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่ร่างกายของผู้เล่นกับสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 8 ฤดูกาลที่ผ่านมา การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังนั้นมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น” โทนี่ สตรัดวิก ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน และอดีตหัวหน้าฝ่ายประสิทธิภาพการทำงานของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เผย
สอดคล้องกับ ดร.เฮนดริกซ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายแรงงานของมหาวิทยาลัย KU Leuven ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า วงการฟุตบอลต้องดูแลนักฟุตบอลอาชีพตามมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSH) ของยุโรปและนานาชาติอย่างเต็มที่ เนื่องจากนักฟุตบอลมีสถานะเป็นแรงงานตามกฎหมายทุกระดับ จึงต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนแรงงานทั่วไป แม้วงการฟุตบอลอาจต้องปรับมาตรฐานให้เหมาะสม แต่จะอ้างความพิเศษของงานหรือรายได้มาปฏิเสธการใช้มาตรฐาน OSH ไม่ได้
การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าทริปเปิ้ล แชมป์พรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และเอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 2022-2023 ทีม “เรือใบสีฟ้า” มีโปรแกรมที่ต้องลงเล่นถึง 61 นัดด้วยกัน
AFP/FABRICE COFFRINI
ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เปลี่ยนระบบแบ่งกลุ่ม มาเป็นรอบ ลีก เฟส
หากมาเทียบในฤดูกาล 2024-2025 ตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเป็น 71 นัด จากการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ ลีก เฟส ที่มีจำนวนนัดเพิ่มขึ้นและอาจรวมถึงการแข่งขันเพลย์ออฟใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกด้วย
นอกจากนี้ FIFPRO ที่เป็นองค์กรเป็นตัวแทนของผู้เล่นมากกว่า 66,000 คนทั่วโลก แสดงความไม่เชื่อมั่นกับการที่ฟีฟ่า จะดูแลผู้เล่นเป็นอย่างดีกับโปรแกรมสโมสรโลก ที่เป็นโปรแกรมรอยต่อของฤดูกาล แม้ว่า ฟีฟ่า จะจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่ดูแลสวัสดิการผู้เล่น ก็ตาม
ทำให้ FIFPRO ได้จับมือกับ สหภาพลีกฟุตบอลของทวีปยุโรป European Leagues ซึ่งเป็นตัวแทน 39 ลีก รวมถึงพรีเมียร์ลีก และสโมสร 1,130 แห่งใน 33 ประเทศ และ ลา ลีกา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในยุโรปเพื่อตอบโต้กับการที่ฟีฟ่า กับการใช้อำนาจเพิ่มทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชนชาย และรายการใหญ่ๆ ขึ้นมาลงในปฏิทินการแข่งขัน ขณะเดียวกันทางฟีฟ่า เองก็ได้ตอบโต้ไปยังเหล่าสโมสรในยุโรปถึงการที่มักจะใช้เวลาพักร้อนก่อนเริ่มปรีซีซั่น ไปกับแมตช์อุ่นเครื่องทั่วโลก และโปรแกรมดังกล่าวนั้ยได้รับการอนุมัติจากตัวแทนจากทุกทวีป รวมทั้งยุโรป หลังจากปรึกษาหารือกับ ฟิฟโปร (FIFPRO) และลีกต่างๆ แล้วนั่นเอง
ผลกระทบการเพิ่มจำนวนการแข่งขันของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)
ด้านนักฟุตบอล
เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เนื่องจากต้องลงเล่นถี่ขึ้น
ร่างกายพักฟื้นน้อยลง อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเล่น
อายุการเล่นฟุตบอลในอาชีพสั้นลง
ด้านสโมสร
รายได้เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันรายการใหม่ๆ
ต้องเพิ่มขนาดทีม เพื่อหมุนเวียนนักเตะ
ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในการดูแลนักเตะและการเดินทาง
ด้านแฟนบอล
ได้ชมการแข่งขันมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการติดตามทีมเพิ่มขึ้น
อาจเกิดความล้าในการติดตามเกมที่มีมากเกินไป