อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุดว่า “อย่าเพิ่งเชื่อ อ่านก่อนตัดสินใจ ทิ้งเครื่องครัวพลาสติกสีดำ”
โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า “การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemosphere เมื่อเดือนตุลาคม 2024 เป็นแรงผลักดันให้เกิดกระแสการทิ้งเครื่องใช้ภายในครัวที่ทำจากพลาสติกสีดำ (พลาสติกรีไซเคิลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์) โดยงานวิจัยระบุว่า เครื่องใช้ภายในครัวที่ทำจากพลาสติกสีดำ อาจปล่อยสารหน่วงไฟชนิด decaBDE (Decabromodiphenyl ether หรือ เดคาโบรโมไดฟีนิลอีเทอร์) ออกมาได้ แต่ต่อมาในภายหลังผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าว ก็ได้ยื่นขอแก้ไขรายงานดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีความผิดพลาดทางสถิติที่ทำให้ความเสี่ยงจากการสัมผัสสารหน่วงไฟชนิด decaBDE เกินความเป็นจริง”
นอกจากนี้ ทำไมถึงมีสารหน่วงไฟอยู่ในเครื่องใช้ภายในครัวที่ทำจากพลาสติกสีดำ?
โดยผู้ผลิตเริ่มเติมสารหน่วงการติดไฟลงในผลิตภัณฑ์ เช่น โทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เพื่อชะลอการลุกลามของไฟ แต่บริษัทต่างๆ ต้องเลิกใช้สารดังกล่าว เนื่องจากผลการศึกษาในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีพิษและอาจก่อมะเร็งต่อสัตว์และมนุษย์ได้ หากได้รับในปริมาณสูง อย่างไรก็ตาม สารเคมีบางชนิดเหล่านี้กลับมาปรากฏอีกครั้งในของใช้ในครัวเรือนที่ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านการรีไซเคิล เนื่องจากกฎระเบียบที่ควบคุมการใช้สารหน่วงไฟบางชนิดไม่ได้บังคับใช้กับวัสดุดังกล่าว
อีกทั้ง หมอหมูเผยอีกว่า “ผู้คนไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกสีดำชนิดใดอาจมีสารหน่วงไฟ แต่จากการศึกษาล่าสุด นักวิจัยพบสารเคมีดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 17 รายการจากทั้งหมดกว่า 200 รายการที่ทดสอบ พบว่าผลิตภัณฑ์บางรายการมีสาร decaBDE ซึ่งเป็นสารหน่วงการติดไฟที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ decaBDE (Decabromodiphenyl ether) หรือ เดคาโบรโมไดฟีนิลอีเทอร์ เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกใช้เป็นสารหน่วงไฟ ในผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ฟูก ยานพาหนะและวัสดุก่อสร้าง”
โดยสารหน่วงไฟชนิด decaBDE จะเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีดังนี้
1. การหายใจ คือ สารระเหยจากผลิตภัณฑ์ที่มี decaBDE อาจถูกสูดดมเข้าไป
2. การสัมผัสทางผิวหนัง คือ การสัมผัสโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารนี้ อาจทำให้สารซึมเข้าสู่ร่างกาย
3. การรับประทานอาหาร คือ สารนี้สามารถปนเปื้อนในอาหารได้
อีกทั้ง การสัมผัสกับสารหน่วงไฟชนิด decaBDE ในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบต่อระบบในร่างกาย โดยมีดังต่อไปนี้
1. ระบบประสาท คือ ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้, ความจำเสื่อม และพัฒนาการทางสมองผิดปกติ
2. ระบบฮอร์โมน คือ รบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย
3. ระบบสืบพันธุ์ คือ ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
4. มะเร็ง คือ มีความเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งบางชนิด
5. ระบบภูมิคุ้มกัน คือ ทำให้ร่างกายอ่อนแอต่อการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม หลายคนคงจะสงสัยว่า ควรทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อความปลอดภัยหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญบางคนมีความเห็นว่า “ไม่ควรทิ้ง” แต่ควรดูแลและใช้ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งมีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการวางเครื่องใช้ภายในครัวที่ทำจากพลาสติกสีดำทิ้งไว้ในหม้อหรือกระทะที่ร้อน
2. ควรทิ้งเครื่องใช้ภายในครัวที่ทำจากพลาสติกสีดำที่มีรอยบิ่นหรือบุบ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่พลาสติกแตกจะปนเปื้อนอาหาร
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์