มาร์เก็ตเพลส

“พายุไมโครพลาสติก” แผงอยู่ในเครื่องครัว 5 ชนิด หลายคนไม่รู้ ยังใช้กันอยู่ทุกวัน
April 26, 2025

รู้ไว้ดีกว่า “พายุไมโครพลาสติก” ที่ซ่อนอยู่ในเครื่องครัว 5 ชนิด รอจังหวะทำลายสุขภาพทั้งครอบครัวโดยไม่รู้ตัว

ตอนหั่นผักหรือทำอาหารในครัว คุณเคยคิดไหมว่าคุณและครอบครัวอาจเผลอกลืน “ไมโครพลาสติก” นับหมื่นชิ้นจากกิจวัตรแสนธรรมดาเหล่านี้?

ไมโครพลาสติก คือ เศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร รวมถึงอนุภาคนาโนที่เล็กยิ่งกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าเศษพลาสติกจิ๋วเหล่านี้สามารถสะสมอยู่ในสมอง เลือด ปอด ลำไส้ และแม้กระทั่งกระดูกของมนุษย์ ก่อให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมน การอักเสบเรื้อรัง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคลำไส้ มะเร็ง สมองเสื่อม และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย

ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ วิกฤตเงียบนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะแฝงตัวอยู่ในครัวของเรานี่เอง งานวิจัยเชิงระบบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research ระบุว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกในครัวเรือนหลายชนิดสามารถปล่อยไมโครพลาสติกออกมาได้จำนวนมหาศาลระหว่างการใช้งานประจำวัน กลายเป็นแหล่งเสี่ยงสำคัญที่มักถูกมองข้าม ตัวอย่างเช่น:

Mikhail Nilov

เขียงพลาสติก

หลายคนเลือกใช้เขียงพลาสติกเพราะน้ำหนักเบา ทำความสะอาดง่าย และไม่ขึ้นรา แต่มีงานวิจัยพบว่า เมื่อใช้มีดกรีดขูดบนผิวเขียงซ้ำ ๆ จะปล่อยไมโครพลาสติกออกมาได้ถึง 79.4 ล้านชิ้นต่อปี โดยเฉพาะเวลาหั่นวัตถุดิบแข็ง เช่น แครอท หรือเนื้อแช่แข็ง หรือเมื่อใช้มีดใบหยัก ยิ่งเพิ่มการหลุดลอกของเศษพลาสติกมากขึ้น

มีการวิจัยที่อเมริกาเผยว่า น้ำหนักของเขียงที่ใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตลดลงถึง 875 กรัมภายในเวลาเพียง 40 วัน ซึ่งสูงกว่าที่การทดลองในห้องแล็บคาดการณ์ไว้มาก

นอกจากนี้ แม้เขียงจะทำจากพลาสติกเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันตามวัสดุ เช่น เขียงจากโพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งมีความยืดหยุ่นดีกว่า จะปล่อยไมโครพลาสติกออกมาน้อยกว่าเขียงที่ทำจากโพลีโพรพิลีน (PP)

จาน ช้อน ตะเกียบพลาสติก

จาน ช้อน และตะเกียบที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกคุณภาพต่ำหรือพลาสติกรีไซเคิล สามารถปล่อยไมโครพลาสติกออกมาได้เมื่อต้องสัมผัสกับความร้อนหรือใช้งานเป็นเวลานาน งานวิจัยจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) ชี้ว่า พลาสติกเหล่านี้เมื่อเกิดรอยขีดข่วนหรือเริ่มเสื่อมสภาพ จะปล่อยเศษไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงในอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงหากรับประทานเข้าไป

นอกจากนี้ พลาสติกเกรดต่ำหรือพลาสติกรีไซเคิลยังมีแนวโน้มปล่อยไมโครพลาสติกออกมาง่ายขึ้นเมื่อต้องสัมผัสกับอาหารร้อนหรือน้ำร้อน ดังนั้นทางที่ดีควรเปลี่ยนมาใช้จาน ช้อน และตะเกียบที่ทำจากแก้วหรือสเตนเลสคุณภาพดี เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหาร

Nicola Barts

เครื่องปั่นน้ำผลไม้ เครื่องสกัดน้ำผักผลไม้

หลายคนอาจไม่เคยนึกว่าการทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในตอนเช้า อาจหมายถึงการบดพลาสติกไปด้วย นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียพบว่า การปั่นน้ำแข็งในโถพลาสติกเพียง 30 วินาที สามารถปล่อยไมโครพลาสติกนับพันล้านชิ้นออกมาได้

เฉิง ฟาง นักเคมีจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล อธิบายว่า “ขอบของก้อนน้ำแข็งมีความคมเหมือนกับอาหารแข็งบางชนิด เมื่อเสียดสีกันด้วยความเร็วสูง จะทำให้ผนังด้านในของโถพลาสติกหลุดลอกออก”

หลักการเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับขวดพลาสติกและกระป๋องพลาสติกด้วย งานวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ในน้ำดื่มบรรจุขวดมาจากฝาขวด และทุกครั้งที่เปิดหรือปิดฝา จะมีไมโครพลาสติกหลุดออกมาประมาณ 500 ชิ้น

กาน้ำที่มีส่วนผสมของพลาสติก

กาน้ำร้อน โดยเฉพาะกาที่ทำจากพลาสติกหรือมีชิ้นส่วนพลาสติกสัมผัสกับน้ำ อาจเป็นแหล่งปล่อยไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว เมื่อน้ำเดือด อนุภาคพลาสติกจากวัสดุหรือชิ้นส่วนภายในกาสามารถหลุดออกมาปะปนกับน้ำได้

งานวิจัยของศาสตราจารย์โบแลนด์จากวิทยาลัยทรินิตีดับลินพบว่า การต้มกาน้ำใหม่เพียงครั้งเดียวอาจปล่อยไมโครพลาสติกได้ถึง 6-8 ล้านชิ้น และถึงแม้จะใช้งานไปแล้ว 40 ครั้ง ก็ยังคงมีอนุภาคพลาสติกตกค้างอยู่ประมาณ 10%

ยิ่งไปกว่านั้น กาน้ำที่มีชิ้นส่วนพลาสติก เมื่อใช้งานนานวันเข้า ก็ยิ่งมีโอกาสเสื่อมสภาพและปล่อยไมโครพลาสติกมากขึ้น งานวิจัยจาก EPA แนะนำว่า กาน้ำราคาถูกหรือทำจากพลาสติกรีไซเคิลมีความเสี่ยงสูง ควรเลือกใช้กาน้ำที่ทำจากสเตนเลสหรือแก้วคุณภาพดี เพื่อลดโอกาสปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม

กล่องพลาสติกใส่อาหาร

กล่องพลาสติกสำหรับใส่อาหาร โดยเฉพาะเวลานำไปใส่อาหารร้อนหรือใช้กับไมโครเวฟ อาจกลายเป็นแหล่งปล่อยไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว เมื่อลองใส่อาหารร้อนลงไป อนุภาคพลาสติกจากผิวกล่องสามารถหลุดออกมาปะปนกับอาหารได้

งานวิจัยจากองค์การปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) พบว่า ความร้อนสูงสามารถทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพและปล่อยไมโครพลาสติกออกมา ซึ่งหากบริโภคเข้าไปเป็นประจำ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

นอกจากนี้ การใช้กล่องพลาสติกรีไซเคิลหรือพลาสติกราคาถูกนาน ๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน เพราะวัสดุมีโอกาสเสื่อมและหลุดลอกได้ง่าย กล่องยิ่งเก่า ยิ่งผ่านการใส่อาหารร้อนหลายครั้ง โอกาสปล่อยไมโครพลาสติกก็ยิ่งสูงขึ้น


บทความเพิ่มเติม