เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า ในพื้นที่ จ.พัทลุง ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทั้ง 11 อำเภอของ จ.พัทลุง ตั้งแต่เมื่อคืน (28 พ.ย.) ที่ผ่านมา ตลอดทั้งวันนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำที่ท่วมเดิมอยู่แล้ว ยิ่งท่วมเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ น้ำฝนสะสมบนภูเขาบรรทัด อำเภอกงหรา และศรีนครินทร์ ตะโหมด และอำเภอป่าบอนเป็นจำนวนมาก เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาตามน้ำตกต่างๆ โดยเฉพาะที่น้ำตกโตนแพรทอง หมู่ที่ 6 ตำบลลำสินธ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง และที่น้ำตกไพรวัลย์ ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ที่กล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ได้ ซึ่งบริเวณเหนือน้ำดังกล่าวยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง อาจจะมีปริมาณน้ำป่าไหลหลากลงเพิ่มขึ้น เตรียมขนสิ่งของไว้ที่สูง
ขณะเดียวกันฝนที่ยังไม่หยุดตกทำให้เกิดน้ำท่วมขังที่ลุ่มของจังหวัดอีกหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่ อำเภอปากพะยูน จ.พัทลุง ในเขตเทศบาลฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ราชการหลายแห่ง ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเป็นการด่วน
นอกจากนี้เส้นทางรอยต่อระหว่างจังหวัดพัทลุง กับ อ.ระโนด จ.สงขลา ตรงสะพานเฉลิมพระเกียรติ ระดับน้ำท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านสัญจรไปมาได้แล้วในขณะนี้ และเส้นทางถนนสายเพชรเกษมหาดใหญ่-พัทลุง ตรงบ้านโคกยาฝั่งขาขึ้น ในท้องที่ อ.เขาชัยสน ระดับเริ่มหลากท่วมผิวทางจราจร ไปครึ่งเลน และมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในขณะนี้
ส่วนที่ถนนเพชรเกษม อำเภอศรีนครินทร์ เส้นทางวิ่งไปจังหวัดตรัง มีน้ำไหลผ่านถนนเป็นช่วงๆ รถเล็กเดินทางผ่านอย่างลำบาก และที่น้ำตกโตนแพรทองก็มีเสียงสัญญาณเตือนภัยน้ำป่าอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
ขณะที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเข้าขั้นวิกฤติ ตั้งแต่ช่วง 3 ทุ่มของเมื่อคืนที่ผ่านมา มวลน้ำจากตอนบนจังหวัดยะลาได้ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีต่อเนื่อง ประกอบกันมีส่วนน้ำทะเลก็หนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำปัตตานีสูงจนล้นตลิ่งเข้าท่วม อย่างหนักในพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำ รวมถึงทะลักเข้าท่วมในเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นวงกว้าง ถนนจมอยู่ใต้น้ำ สูง 40-70 ซม บางถนนเป็นอัมพาต รถไม่สามารถสัญจรได้ ถือว่าหนักสูดในรอบ 34 ปี ขณะเดียวกันบ้านเรือนของประชาชน และ ร้านค้าๆต่างๆน้ำทะลักเข้าไปภายในได้รับความเสียหาย ทำให้ประชาชนเทศบาลเมืองปัตตานี ณ ขณะนี้ได้รับความเดือนร้อนเป็นวงกว้าง
ส่วนเส้นทางที่รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ คือ ถนนกะลาพอ ถ.หลังวัง ถ.หลังวัง ถ.ยะรัง(บางจุด) มีน้ำท่วมสูง 50-70 ซม ส่วนพื้นที่อื่นถนนจมอยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกัน แต่รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งขณะนี้บางจุดกลายเป็นเกาะ โดยมีรถของประชาชนเป็นจำนวนมากต่างรอน้ำลด เพื่อจะเข้าตัวเทศบาลเมืองปัตตานี เช่นเดียวกับประชาชนที่อยู่ติดถนน จากที่นำกระสอบทรายมาวางชั้นเดียว ได้มีการเพิ่มกระสอบทรายเป็นชั้นที่2 และชั้น ที่3 กั้นไม่ให้น้ำเข้าภายในบ้าน
จ.สงขลา สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ ในพื้นที่ มีหลายพื้นที่น้ำท่วมขังรอการระบายจุด เช่นสะพานข้ามทางรถไฟจันทร์วิโรจน์หรือถนนรัตนวิบูลย์ มีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่อง จากน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ ทางลอดทางรถไฟข้ามผ่านคลองเตยคลองสายหลักของเมืองหาดใหญ่เจ้าที่เทศบาลหาดใหญ่ต้องกั้นเชือก และใช้วิธีให้พี่น้องประชาชนเกาะเชือกแล้วก็พาข้ามไปเพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าออกมาซื้อของได้อย่างสะดวก
สถานการณ์ภาพรวมทั้งอำเภอหาดใหญ่และอำเภอบางกล่ำตอนนี้มีหลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมถนนถูกตัดขาด
ยะลา พื้นที่อำเภอรอบนอกของจังหวัดยะลา ทั้ง 10 ตำบล มีน้ำท่วมโอบล้อมตัวเมืองในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 5 อำเภอ ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดยะลา ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดยะลา ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567ที่ผ่านมา ตามที่ได้มีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2567 ปริมาณฝนสะสม ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่จังหวัดยะลา ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย (อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.กาบัง) 45 ตำบล 26,565 หมู่บ้าน 27 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,425 ครัวเรือน 107,741 คน อพยพ 63 ครัวเรือน 275 คน ถนน 95 สาย สะพาน 10 แห่ง และเสาไฟฟ้า 6 ต้น โดยล่าสุด เช้าวันนี้ (29 พ.ย.67) ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว