เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เป็นต้นมา ชาวบ้านทุกหมู่บ้านภายในอ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ต่างพากันนำแคร่หลวงที่ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้นทดแทนกระทงด้วยความปราณีตบรรจงด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ภายในท้องถิ่น อาทิ ไม้ท่อน ไม้ไผ่ กระดาษสา ใบตองและอื่น ๆ ทำการ “แห่แคร่หลวง” จากพิกัดต่างๆ ภายในแต่ละหมู่บ้านก่อนมุ่งหน้าไปยังวัดในหมู่บ้านตน โดยบางหมู่บ้านมีแคร่หลวง 1-2 แคร่ ขณะที่บางหมู่บ้านมีแคร่หลวงมากถึงเกือบ 10 แคร่ อาทิ หมู่บ้านห้วยห้า หมู่ 7 ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง มีแคร่หลวง 8 แคร่หลวง
สำหรับการ “แห่แคร่หลวง” ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศเต็มความครึกครื้น ทั้งนี้ในค่ำวันเดียวกันนี้ ชาวบ้านเกือบจะทุกหลังคาเรือน ได้พากันจุดประทีป ทั้งประทีปจากเทียนไข จากน้ำมันตะเกียงปักไว้ตามแนวบ้านตนเพื่อความสว่างไสว และเมื่อแห่แคร่หลวงไปถึงวัดแล้ว ชาวบ้านได้แห่แคร่หลวงไปรอบ ๆ โบสถ์ 3 รอบ ก่อนจะนำมาถวายพระสงฆ์ ก่อนจะนำมาไว้ยังหน้าวัด ปรับแต่งให้สวยงามที่สุดอีกครั้ง จากนั้นเวลา 20.00 น.จึงพากันเผาแคร่หลวงที่ได้ช่วยกันทำ โดยแสงไฟจากการเผาสว่างไปทั่วบริเวณหน้าวัดในแต่ละหมู่บ้าน
โดย นายสุนทร กันทพงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านห้วยห้า หมู่ 7 ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง เปิดเผยว่า ประเพณีลอยกระทง ชาวบ้าน อ.บ้านโฮ่ง ทำบุญถวายเป็นพุทธบูชาด้วยแคร่หลวงแทนกระทง ด้วยการช่วยกันทำแคร่หลวงตามแต่ละคุ้ม แต่ละหมวดของหมู่บ้าน ในส่วนของหมู่บ้านห้วยห้า มีแคร่หลวง 8 ต้น แคร่ จาก 8 คุ้ม 8 หมวด ชาวบ้านทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ รวมทั้งโคมไฟก็ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นและช่วยกันตบแต่ง เพื่อนำมาถวายวัด และเพื่อจุดไฟเผาแคร่หลวงเพื่อเป็นพุทธบูชาในคืนนี้ สำหรับการทำแคร่หลวง มีทุกหมู่บ้านใน อ.บ้านโฮ่ง เป็นสิ่งที่ทุกหมู่บ้านถือเป็นประเพณีที่สำคัญมาก ต้องปฏิบัติสืบทอดกันมาในช่วงลอยกระทง และมีประเพณีนี้โบราณสืบสานกันมาช้านานโดยเฉพาะในพื้นที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน