เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และคณะเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและสารเสพติด ชุมชนโรงเรียนวัดปากบึง เคหะร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ และการให้ความช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้ออกจากระบบการศึกษา โดยบูรณาการความช่วยเหลือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งให้ทุนประกอบอาชีพแก่ครอบครัวที่ประสบปัญหาด้านรายได้ ซึ่งโรงเรียนวัดปากบึง สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เป็นต้นแบบการดำเนินงาน ZERO DROP OUT ด้วย

โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คือ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร น.ส.พิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายแพทย์ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กรุงเทพมหานคร หรือ ปปส.กทม. นายธราพงษ์ เพชรคง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง และนายแสวง จันทพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง ให้การต้อนรับ

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่ผลิตยาเสพติด แต่เป็นประเทศที่เป็นทางผ่านลำเลียงยาเสพติด สำหรับยาเสพติดนั้นเราได้ตรวจดูทั้งส่วนผสม จนถึงการบรรจุหีบห่อ ตอนนี้ยังยืนยันว่าไม่พบโรงงานที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดผลิตจากต่างประเทศ ที่เราได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มาจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

ดังนั้นยาเสพติดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้าชายแดนผ่านไปประเทศที่สาม ซึ่งในที่นี้รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ล่าสุดมีปริมาณการจับกุมยาเสพติดเยอะขึ้น โดยในปี 67 มีการจับกุมยาเสพติดได้รวมกว่าหนึ่งพันล้านเม็ด ที่น่าห่วงใย 2 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องความต้องการขาย หรือซัพพลาย ที่พวกเราช่วยกันสกัดกั้น และความต้องการซื้อ หรือดีมานด์ จะฝากให้พวกเราช่วยกันทำอย่างไรให้คนปฏิเสธยาเสพติด

การแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศ ส่วนแรก คือพื้นที่เขตลาดกระบังเป็นพื้นที่พักยาเสพติด รัฐบาลกำลังมีนโยบายที่สำคัญ คือ ต้องปราบปรามนักค้าและแหล่งพักยา ยาเสพติดเข้ามา 2 ภาค แบ่งเป็นเข้าทางภาคเหนือ ประมาณร้อยละ 70 และภาคอีสาน ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะเป็นแหล่งพักยาแล้วยังเป็นแหล่งเสพยาเสพติดด้วย

“เราต้องช่วยกันป้องกันยาเสพติด ยาเสพติดไม่กลัวทหาร ยาเสพติดไม่กลัวตำรวจ ยาเสพติดไม่กลัวกฏหมาย แต่ยาเสพติดกลัวแม่ ยาเสพติดกลัวความรักที่แม่รักลูก การแก้ปัญหานี้อยู่ที่ครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก เราต้องทำให้ชัยชนะอยู่ที่ครอบครัวและอยู่ที่ชุมชนให้ได้ วันนี้คนที่ก้าวพลาดไปติดยาเสพติด เราจะใช้การฟื้นฟูสภาพทางสังคม ต้องไปบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพทางสังคม ต้องทำให้เขามีการศึกษา ต้องทำให้เขามีอาชีพ ต้องทำให้เขามีที่อยู่อาศัย ฯลฯ ผมหวังผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร จะร่วมกันทำให้ได้” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

ทางด้าน รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าเรื่องยาเสพติดโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง กทม. ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับในสถานศึกษาในช่วงหลังมีข้อกังวลในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า อาจส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมที่จะนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่น ๆ ต่อในอนาคตได้ ตัวเลขในการคัดกรองในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉลี่ยมีกลุ่มเสี่ยงประมาณ 4% และเราไม่ต้องการให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาตามนโยบาย ZERO DROPOUT ของรัฐบาล ดังนั้นการดำเนินงานทั้งหมดในโรงเรียนจึงมุ่งหวังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และนโยบายจากรมว.ยุติธรรม เพื่อทำให้งานด้านนี้เป็นไปด้วยดีมากขึ้น

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหายาและสารเสพติดในโรงเรียน ชุมชนและสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการป้องกันในเด็กและเยาวชน ซึ่งให้ความคุ้มครองเด็กในการสอดส่องดูแล แก้ไขพฤติกรรม และการช่วยเหลือด้านการศึกษา เพื่อป้องกันนักเรียนออกจากระบบการศึกษา โดยสำนักอนามัยดำเนินการร่วมกับโรงเรียนวัดปากบึง สำนักงานเขตลาดกระบัง ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า ลาดกระบัง ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี สถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600 ติดตามพฤติกรรมของนักเรียนที่มีความเสี่ยง และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดและสารเสพติด รวมทั้งกลุ่มเปราะบางในด้านอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

โดยทำการประเมินภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติด ตรวจวัดระดับนิโคตินและตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด โดยความยินยอมของผู้ปกครอง และให้ความดูแลช่วยเหลือ ส่งต่อเข้ารับการบำบัด ติดตามเยี่ยมบ้านร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาพื้นที่จุดเสี่ยง แหล่งมั่วสุมบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิต

หลังจากนั้น รมว.ยุติธรรมและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชุมชนเคหะร่มเกล้าโซน 1 เขตลาดกระบัง เพื่อเยี่ยมบ้านนักเรียนที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือ ตรวจเยี่ยมชุมชนเคหะร่มเกล้าโซน 1 รับฟังปัญหาที่ต้องการให้ช่วยเหลือ โดยตัวแทนชุมชน แจ้งปัญหาสำคัญคือ 1.ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่แพร่ระบาดไปในนักเรียน โรงเรียน เยาวชนที่ทวีความรุนแรง 2.ปัญหากระท่อมที่นำไปต้มน้ำกระท่อมเกิดเสพติดรุนแรง

3.ปัญหากัญชาที่ยังไม่มีมาตรการควบคุมพบผู้ต้องบำบัดเสพติดกันชาจำนวนมาก 4.ต้องการให้ดูแลกลุ่มเปาะบาง คนไร้บ้าน เด็กกำพร้าที่ยังมีอยู่ในชุมชน 5.ปัญหายุ่งลายที่เกิดจากน้ำขัง ซึ่ง รมว.ยุติธรรม ได้ขอให้รองผู้ว่าฯกทม. อำนวยการแก้ปัญหา และมอบสำนักงาน ปปส ผอ.เขตลาดกระบัง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 พร้อมตำรวจในพื้นที่ หน่วยการกระทรวงยุติธรรม ผู้นำชุมชน และที่ปรึกษาชุมชนช่วยการกำหนดยุทธศาสตร์ การป้องกันและแนวทางการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน ร่วมถึงปัญหากระท่อมและกัญชา ที่ให้สำนักงาน ปปส ผลักดันการแก้กฏหมายและมาตราการคุ้มเข้มโดยด่วน