กรณี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) 2 นาย เจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าเขาประทับช้างและบึงฉวาก ร่วมช่วยเหลือ “เสือโคร่ง” ได้รับบาดเจ็บจากบ่วงดักสัตว์ (นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย) ก่อนนำตัวมารักษาที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ห้วยขาแข้ง ต่อเนื่องมาหลายวัน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

‘อุทยานฯพุเตย’เร่งช่วย’เสือโคร่ง’ติดบ่วงดักสัตว์‘คาดมาจากป่าห้วยขาแข้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. เพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “คืบหน้า!! การดูแลรักษา “เสือโคร่ง” เหยื่อแร้วพรานเถื่อน หลังส่งมารักษาต่อที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

จากนั้นแจ้งว่า 18 ม.ค.68 – นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยความคืบหน้าการดูแลเสือโคร่งที่ได้รับบาดเจ็บจากแร้วดักสัตว์ ว่าหลังจากที่คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย​ และทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก มายังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อค่ำของวันที่ 15 มกราคม 2568 เพื่อให้ได้รับการดูแลในสภาพแวดล้อมกึ่งธรรมชาติที่เหมาะสมนั้น

ทางสถานีฯ ได้ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดเพื่อเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเสือโคร่งอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยล่าสุดทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการพ่นยาเบตาดีนบริเวณแผล และมีการปรับแผนการให้อาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเสือ

จากการติดตามพฤติกรรมการกินอาหาร พบว่าเมื่อวานนี้เสือโคร่งซึ่งมีน้ำหนักตัว 85 กิโลกรัม สามารถกินอาหารได้หมดทั้ง 6 กิโลกรัม แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา ทางสถานีฯ จึงได้วางแผนเพิ่มปริมาณอาหารให้สอดคล้องกับหลักโภชนาการที่เสือควรได้รับอาหาร 10% ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 8.5 กิโลกรัมต่อวัน

เพื่อให้เสือได้รับสารอาหารเพียงพอต่อการฟื้นฟูร่างกาย การปรับเพิ่มปริมาณอาหารนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเสือโคร่ง ซึ่งถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศ โดยทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนพิจารณาแนวทางการดูแลในขั้นตอนต่อไป #เสือโคร่ง”

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช”