เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 23 ม.ค.กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่คู่รักหลากเพศหลายคู่เฝ้ารอมายาวนาน บางคู่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน สร้างอาชีพ และมีทรัพย์สินร่วมกัน กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันสิทธิเท่าเทียมทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะมีผลบังคับใช้วันนี้ (23 ม.ค.68) นี้ เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกัน ทั้งคู่รักจากไทย และคู่รักกับชาวต่างชาติ ที่อาจมาจากประเทศที่ยังไม่รองรับกฎหมายนี้ ได้จดทะเบียนสมรสในไทยได้
จ.พิษณุโลก ขณะที่บรรยากาศ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก มีการตกแต่งสถานที่เป็นสีรุ้ง แสดงออกเชิญสัญลักษณ์ LGBTQ+เจ้าหน้าที่สวมเสื้อสีแสดเชิงสัญลักษณ์สีรุ้ง โดยมีนายทะเบียน พร้อมด้วยปลัดอาวุโส ได้ดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้กับทั้ง 3 คู่รัก ซึ่งมีทั้ง ชายกับชาย และหญิงกับหญิง พร้อมด้วยพยานรักของแต่ละคู่ ที่วันนี้เดินทางมารอจดทะเบียนด้วยความยินดีตั้งแต่เช้า ซึ่งบรรยากาศเป็นอย่างชื่นมื่นแต่เช้ากันทีเดียว และคาดว่าตลอดทั้งวันจะมีคู่รักเท่าเทียมเดินทางมาจดทะเบียนกันอย่างต่อเนื่องทั้งวัน
นายวชิรพงศ์ พลอยงาม หรือ มิกซ์ อายุ 33 ปี และนายรัตนนนท์ รักษาสัตย์ หรือ อ๊อฟ อายุ 40 ปี คู่สมรสคู่แรก ทั้งคู่อยู่บ้านเลขที่ 26 ม.2 ต.บ้านคลอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้ประกอบอาชีพค้าขายมาด้วยกัน ตั้งแต่คบกันมาถึงปัจจุบัน รวมเวลา 18 ปี วันนี้ดีใจมากๆ เมื่อคืนนอนไม่หลับ ตื่นเต้น เพราะเรา 2 รอคอยวันนี้มาเป็นเวลานานมากๆ ขอบคุณรัฐบาลและทุกฝ่ายที่ออกกฎหมาย สมรสเท่าเทียม สิ่งยืนยันสิทธิเท่าเทียมทางกฎหมาย เพราะเราคบกันมาถึง 18 ปี มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่เราสร้างมาด้วยกัน สร้างมาเพื่อกันและกัน ก่อนหน้านี้เคยไปรักษาที่ รพ. เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยต้องรอญาติครอบครัวจากที่บ้านเดินทางมา มันหลายทอดกว่าเราจะได้รับการรักษา
“วันนี้มีความหมายกับเรามากๆ สำหรับคู่ที่คบกันมานานๆ อย่างคู่เรา เรามีอะไรร่วมกันมากมายที่สร้างมา โดยเฉพาะในช่วงจังหวะชีวิตที่เจ็บป่วย มันสามารถที่จะช่วยทำให้อีกคนสามารถ ที่จะใช้สิทธิดูแลอีกคนได้อย่างเต็มที่ หรือแม้แต่ ถ้าวันใดวันหนึ่งมีใครเป็นอะไรไปก่อนจะได้สิทธิตามกฎหมายในสิ่งที่เราสร้างมาด้วยกัน โดยที่ไม่ต้องห่วงฝ่ายที่ยังอยู่ว่าเขาจะลำบากไหม เรียกได้ว่านอนตายตาหลับแล้ว”คู่สมรสเท่าเทียม กล่าว
ขณะที่คู่รักน้องนิว หรือ น.ส.หทัยชนก เอี่ยมสะอาด อายุ 31 ปี และน้องฟ้า น.ส.ชยุดา คำศรีบัว อายุ 30 ปี เป็นคู่รักที่คบกันมา 8 ปี เปิดเผยว่าตื่นเต้นและดีใจมากๆ ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ เรารอคอยเวลานี้มา 8 ปี จนวันนี้เราได้จดทะเบียนสมรสกัน หลังจากที่จัดงานแต่งกันมาแล้ว ตนทั้งคู่ทำอาชีพพนักงานราชการ และทำธุรกิจส่วนตัวร่วมกันมา ซึ่งเราตั้งใจว่าอยากจะไปทำธุรกิจที่อเมริกากับญาติ ซึ่งหากจดหากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว จะทำให้การเดินทางเข้าประเทศของทั้งคู่สามารถเข้าไปได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงทรัพย์สิน และการดูแลเรื่องสุขภาพ ที่เรากังวลกันมาตลอด วันนี้เหมือนทุกอย่างปลดล็อคแล้ว กฎหมายรองรับสิทธิสมรมเท่าเทียมแล้ว ดีใจมากๆ
ส่วนคู่รักของ น.ส.อาริยา ทองเสือ อายุ 49 ปี และ น.ส.ขนิษฐา กาปัญญา อายุ 33 ปี เป็นคู่รักที่คบกันมา 5 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก บอกว่ารอวันนี้มา 5 ปีแล้ว เหมือนเป็นวันนี้ที่รอคอย อยากมีวันนี้ อยากให้เป็นที่ยอมรับในสังคม และมีสิทธิตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ เพราะเราจะได้ฝากชีวิตซึ่งกันและกันได้ อะไรที่สร้างมาด้วยกันจะได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องห่วงกันว่าถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดเป็นอะไรไป อีกฝ่ายจะลำบาก เพราะเราสร้างอะไรมาด้วยกันเยอะ
จ.สงขลา บรรยากาศสมรสเท่าเทียมของชาว LGBTQ+ ผู้หญิงข้ามเพศ เต็มไปด้วยความรักและความสุขสมกับที่หลายคู่รอคอยกันมานาน เช่นที่ว่าการอำเภอสะเดา จ.สงขลา อำเภอชายแดนไทยมาเลเซียของจ.สงขลา มีคู่รัก 3 คู่ มาจดเทียนสมรสเท่าเทียม เป็นคู่ชาย 1 คู่และคู่หญิง 1 คู่ โดยมี นายวิเชษต์ สายกี้เส้ง นายอำเภอสะเดา ตีฆ้องเป็นการเริ่มต้นสมรสเท่าเทียมให้ดังกึกก้องไปทั้งอำเภอและประกาศให้รู้ทั่วกัน
คู่แรกเป็นการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ของนาย ดุจษะนันทน์ รชุดา หรือเจ๊เมย์ อายุ 58 ปี มากับนาย ชรนนีดัน จันทร์หอม อายุ 21 ปี ซึ่งทั้งคู่อายุห่างกันถึง 37 ปี มาพร้อมกับหนูน้อยที่เป็นพยานรัก 1 คน
โดยเจ๊เมย์มาในชุดเจ้าสาวสวยงาม ส่วนนายชรนนีดัน มาในชุดสูทเจ้าบ่าวสีทอง มี นายวิเชษต์ สายกี้เส้ง นายอำเภอสะเดา ร่วมเป็นสักขีพยาน และให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตพร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่คู่รักทั้งสมคู่ และถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก
เจ๊เมย์ กล่าวว่า วันนี้ตนเองรู้สึกดีใจมาก เป็นวันที่รอคอยมานานแสนนาน ซึ่งการจดทะเบียนในวันนี้มันแสดงถึงความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่แบ่งแยกเพศ และให้โอกาสในการทำธุรกรรมต่างๆง่ายขึ้น
สำหรับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการมีผลบังคับใช้ 22 มกราคม 2568 การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้นับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับชุมชน LGBTQ+ ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้