เมื่อวันที่ 7 ม.ค. สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความได้ประกาศ เรื่อง การพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการมรรยาททนายความ ได้ประชุมพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ตามพ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.2567 นั้นปรากฏผลการพิจารณาคดี จากทั้งหมด 362 คดี ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาลงโทษ โดยให้ลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความ จำนวน 18 คดี, ห้ามทำการเป็นทนายความ มีกำหนด 3 ปี จำนวน 19 คดี, ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 2 ปี จำนวน 9 คดี, ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 1 ปี จำนวน 19 คดี, ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 6 เดือน จำนวน 8 คดี, ภาคทัณฑ์ จำนวน 10 คดี และงดโทษให้ โดยว่ากล่าวตักเตือน จำนวน 19 คดี
อย่างไรก็ตามขั้นตอนหลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาททนายความแล้ว จะต้องส่งให้นายกสภาทนายความ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการสภาทนายความเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าจะเห็นชอบหรือไม่ จากนั้นจึงส่งไปให้ประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาลงโทษให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีที่ทนายความไปกระทำความผิดละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการกระทำอันขัดต่อมรรยาททนายความ ถือเป็นคดีมรรยาททนายความที่คณะกรรมการมรรยาททนายความสามารถรับพิจารณาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1. ผู้เสียหายที่เป็นคู่กรณีกับทนายความคนดังกล่าว สามารถร้องเรียนสภาทนายความได้ 2. ทนายความด้วยกันร้องเรียนมาที่สภาทนายความ และ3. คณะกรรมการมรรยาททนายความเห็นว่ามีความผิดปรากฏขึ้นมา ก็สามารถยกนำเรื่องดังกล่าวมาสอบสวนและพิจารณาความผิดคดีมรรยาททนายความได้เอง
เมื่อคดีเข้าสู่คณะกรรมการมารยาททนายความแล้ว ก็จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนจะพิจารณาการลงโทษ ซึ่งมี 3 ระดับ ได้แก่ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ห้ามการเป็นทนายความไม่เกิน 3 ปี, 2 ปี, 1 ปี หรือ 6 เดือน และ 3.ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ โดยความหนักเบาของโทษนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และพยานหลักฐาน ในกรณีประพฤติผิดมรรยาททนายความเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรก อาจจะว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
เมื่อคณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณาคำสั่งลงโทษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งคำสั่งดังกล่าวมาที่นายกสภาทนายความพร้อมสำนวน เพื่อที่จะเสนอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณากลั่นกรอง ว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวมีเหตุเหมาะสมต่อการลงโทษหรือไม่ และมีความหนักเบาของโทษประการใด
แล้วหลังจากนั้นก็จะมีคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความส่งให้ประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อส่งคำสั่งดังกล่าวไปยังทนายความคู่กรณี ถ้าหากทนายความคู่กรณีไม่พอใจ สามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ ถ้าผลการอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ก็สามารถยื่นศาลปกครองได้